"กรมฮาลาล"ไม่แท้ง "กระทรวงอุตสาหกรรม"ยันเดินหน้าตั้งหน่วยงานกลางหนุน

14 ก.พ. 2567 | 06:00 น.

"กรมฮาลาล"ไม่แท้ง "กระทรวงอุตสาหกรรม"ยันเดินหน้าตั้งหน่วยงานกลางหนุน ระบุนายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอ พร้อมรับปากหางบมาช่วยสนับสนุน พร้อมรอความเห็นจากก.พ.ร. ถึงทิศทางที่เหมาะสม

จากกกรณีที่แหล่งข่าวระดับสูงทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงความคืบหน้าการตั้ง “กรมอุตสาหกรรมฮาลาล” ว่า ยังไม่มีการตั้งกรมใหม่แต่อยู่ระหว่างรับข้อเสนอจากกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเรื่องตั้งคณะกรรมการนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลแทน ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังจะนั่งเป็นประธานหรือไม่ ยังไม่ได้ข้อสรุป  

ต่อเรื่องดังกล่าวนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในความเป็นจริงการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นข้อเสนอในลักษณะของการจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้น

โดยข้อเสนอที่เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเป็นลักษณะของการตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมา เพื่อประเมินก่อนว่าหน่วยงานแบบใดถึงจะเหมาะสม ซึ่งยังไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าจะเป็นหน่วยงานประเภทใด โดยจะต้องให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ประเมินตามหลักวิธีการก่อน  

ทั้งนี้ มองว่าการจัดตั้งเป็นกรมใหม่ค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย หรือกฤษฎีกา โดยวิธีการทำงานที่เร็วที่สุดคือ การนำหน่วยงานที่มีอยู่ทำงานไปก่อน ดังนั้นจึงใช้สถาบันอาหาร (สอห.) เป็นโครงก่อน เพราะในเบื้องต้นของแนวคิดจะมุ่งเน้นเรื่องอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก 

"กรมฮาลาล"ไม่แท้ง "กระทรวงอุตสาหกรรม"ยันเดินหน้าตั้งหน่วยงานกลางหนุน

ขณะที่สถาบันอาหารเองก็ทำเรื่องอาหารฮาลาลมาก่อน โดยจะมอบหมายให้ผู้แทนการค้าเป็นผู้นำในการเจรจาการค้า เพื่อเปิด หรือขยายตลาด เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยมีอะไร  มีศัยภาพ หรือร้านค้าจำนวนเท่าไหร่ เพื่อดูผลตอบรับจากต่างประเทศว่าสนใจหรือไม่ที่จะมาลงทุนร่วมกับไทย หรือสนใจจะรับสินค้าจากไทยไปขายหรือไม่  ซึ่งไทยเองก็มีตราสัญลักษณ์ หรือการตรวจสอบเป็นที่ยอมรับ  

สำหรับคนที่จะเข้ามาร่วมทำงานก็จะเป็นลักษณะของการยืมตัวเข้ามา เช่น เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์ เพราะเป็นการเปิดตลาด ,เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) และสศอ.เข้าไปสนับสนุน หรือหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับงานไหนก็อาจจะยืมตัวมาก่อน  ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ก.พ.ร.  

"การตั้งกรมมีความยุ่งยาก และเป็นการสร้างภาระทางด้านค่าใช้จ่ายให้กับรัฐบาล ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายที่ผ่านมาในการตั้งหน่วยงานใหม่ โดยจะสังเกตุได้จากการตั้งหน่วยงานใหม่ในยุคปัจจุยัน จะไม่ใช่การตั้งเป็นหน่วยงานรัฐ เพราะจะมีการทำงานที่ค่อนข้างช้า"

นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า หน่วยงานกลางดังกล่าวจะเป็นการบริหารงานภายใต้คณะกรรมการกำกับนโยบาย หรือคณะกรรมการฮาลาลแห่งชาติ  โดยที่ สศอ. มีข้อเสนอในการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 

"กรมฮาลาล"ไม่แท้ง "กระทรวงอุตสาหกรรม"ยันเดินหน้าตั้งหน่วยงานกลางหนุน

  • ตั้งผู้แทนการค้า เพื่อทำหน้าที่ในการเปิด หรือขยายตลาด  ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการทำอุตสาหกรรมฮาลาล
  • ตั้งคณะกรรมการฮาลาลแห่งชาติ เนื่องจากมองว่าจะต้องมีผู้แทนการค้า และหน่วนงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก 
  • การดำเนินการในระยะเร่งด่วนช่วงแรก โดยมีการของบกลางไปประมาณ 90 ล้านบาท เพื่อเปิดตัว หรือดำเนินการส่วนอื่นเบื้องต้น ซึ่งประเเด็นสำคัญคือนายกฯต้องการนำอุตสาหกรรมฮาลาลไปช่วยกระตุ้นการลงทุนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีความพร้อมทางด้านฮาลาล

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการ โดยได้มีการหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งนายกฯมีการรับนโยบายทุกอย่างที่นำเสนอ และจะดูเรื่องของงบประมาณในการสนับสนุนให้ ซึ่งจะเห็นว่าแนวทางดังกล่าวสวนทางกับข่าวที่ออกมา เพราะจะเดินหน้าอย่างแน่นอน

"เวลานี้ไม่ต้องการสร้างหน่วยงานใหม่  แต่ต้องการทดลองก่อนว่าการตั้งหน่วยงานแบบไหนถึงจะเหมาะสมมากที่สุด เท่าที่ได้มีการหารือกับนายกฯ และนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่ากระบวนการในการตั้งหน่วยงานมีกระบวนการหลายขั้นตอน โดยที่ ครม. เองก็ต้องสอบถามไปยัง ก.พ.ร.ว่าจะมีความเห็นอย่างไร"

นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่ทำเรื่องฮาลาลกระจายอยู่หลายหน่วยงาน โดยเท่าที่รับทราบข้อมูลมีอยู่ประมาณ 10 กว่าหน่วยงาน  จึงเกิดปัญหาเรื่องของทิศทาง หรือแนวทางของแต่ละหน่วยงานที่ไม่ชัดเจน หรือเรียกว่าต่างคนต่างทำ  ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรมมองว่าหากไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามากำกับดูแลก็อาจจะไม่สมฤทธิ์ผล จึงคิดว่าจะให้กับคณะกรรมการฮาลาลแห่งชาติช่วยกำกับดูแล และบูรณาการก่อนในช่วงแรก รวมถึงหน่วยงานอื่นตามความจำเป็น

"เท่าที่ได้หารือกับนายกฯ ได้ขอเวลา 1 ปี เพื่อดูว่าหน่วยงานแบบไหนถึงจะเหมาะสม และได้มีการหารือ ก.พ.ร. ไว้แล้ว"