"ภาคีชาวไร่ยาสูบ"หวั่นประชุมยาสูบโลกทำ 30,000 ครอบครัวหมดอาชีพ

09 ก.พ. 2567 | 00:01 น.

"ภาคีชาวไร่ยาสูบ"หวั่นประชุมยาสูบโลกทำ 30,000 ครอบครัวหมดอาชีพ หลังกังวลต่อท่าทีของตัวแทนประเทศไทยและผลการประชุมกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 10 ที่ปานามา 

นายอัจฉริยะ วัฒนาพร แกนนำกลุ่มภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัวจาก 18 จังหวัดทั่วประเทศทั้ง 3 สายพันธุ์ เปิดเผยว่า ภาคีชาวไร่ยาสูบไทยกังวลต่อท่าทีของตัวแทนประเทศไทยและผลการประชุมกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ครั้งที่ 10 หรือ WHO FCTC [COP10] ขณะนี้ ที่ประเทศปานามา 

ทั้งนี้ มองว่าทุกฝ่ายควรคำนึงถึงผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวไร่ยาสูบทั่วโลก ก่อนตัดสินอนาคตอุตสาหกรรมด้วยความเห็นของคนกลุ่มเดียว หลังทราบข่าวมีชาวไร่ยาสูบปานามาจำนวนมาก ตั้งกลุ่มเดินประท้วงทั่วบริเวณสถานที่จัดประชุม COP10 โดยไม่ควรกีดกันการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบ 

"องค์การอนามัยโลกและสมาชิก 180 ประเทศกำลังอยู่ระหว่างหารือและพิจารณาแนวทางการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งรวมถึงยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอาจมีความอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนเพราะไม่มีการเผาไหม้ จึงต้องการให้องค์การอนามัยโลกและตัวแทนประเทศต่างๆ รวมถึงคณะผู้แทนไทยคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบจำนวนมากในประเทศ ซึ่งประกอบอาชีพนี้มาอย่างยาวนาน และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ ก่อนจะเสนอหรือสนับสนุนมาตรการสุดโต่ง เพราะหลายมาตรการควบคุมยาสูบที่บังคับใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน ก็มักจะอ้างว่ารับมาจากการประชุมกรอบอนุสัญญาฯ นี้ ซึ่งต้องการให้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในประเทศด้วย”

"ภาคีชาวไร่ยาสูบ"หวั่นประชุมยาสูบโลกทำ 30,000 ครอบครัวหมดอาชีพ

อย่างไรก็ดี หนึ่งในเรื่องสำคัญที่จะมีการพิจารณาในการประชุม COP10 คือแนวทางการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน (Heated Tobacco Products – HTP) ถุงนิโคตินสำหรับใช้ในช่องปาก 

และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่อื่น และพิจารณากันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนหรือไม่ รวมถึงมาตรการสุดโต่งอีกหลายด้านซึ่ง

"มีการรายงานข่าวว่า ชาวไร่ยาสูบในปานามาจำนวนมาก ก็ออกมาประท้วงการจัดประชุมกรอบอนุสัญญาฯ COP10 นี้ ว่ากีดกันการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็น และประเทศปานามาเองก็แบนบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ไม่ต่างจากไทย ดังนั้นองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลควรหันมาให้ความสนใจว่า ชาวไร่ยาสูบจะได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจจากผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่เหล่านี้ได้อย่างไร เพราะผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนก็ยังคงใช้ใบยาสูบอยู่ ที่สำคัญควรใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวช่วยในการกำหนดนโยบาย มากกว่าการใช้อคติ เพราะเราคงฝืนวิวัฒนาการของโลกไม่ได้ ซึ่งไม่ต่างกับกระแสความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้"