ผงะ!เด็กใช้"บุหรี่ไฟฟ้า"พุ่ง 5 เท่า สะท้อนนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลว

05 ก.พ. 2567 | 17:56 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2567 | 17:56 น.

ผงะ!เด็กใช้"บุหรี่ไฟฟ้า"พุ่ง 5 เท่า สะท้อนนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลว แม้ถูกแบนมาร่วม 9 ปี เหตุผู้คนชินชากับความหย่อนยานของกฎหมาย การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลย

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) เปิดเผยถึงผลการศึกษาโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ที่ระบุตัวเลขอัตราใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยที่เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่าภายในระยะเวลา 7 ปี (2558 – 2565) ว่า บุหรี่ไฟฟ้าถูกแบนมาร่วม 9 ปี แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บุหรี่ไฟฟ้ากลับเติบโตพุ่งสูงขึ้นอย่างมหาศาล

ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งการที่ผู้คนชินชากับความหย่อนยานของกฎหมายแบน หรือที่เรียกกันว่าแบนทิพย์ หรือการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตคอรัปชั่นจนพบเห็นผู้ใช้ได้ทั่วไปและเพิ่มขึ้นจนถึงเกือบ 1 ล้านคน 

และมีความไม่ชัดเจนของกฎหมายหลายประการเป็นช่องว่างให้เกิดการรีดไถประชาชน ซึ่งการที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่ถูกนำมาควบคุมให้ถูกต้องชัดเจนด้วยกฎหมาย เป็นเหมือนการผลักภาระให้ประชาชนไปดูแลกันเอง จะเห็นได้จากกระแสที่ศิลปินและผู้จัดงานคอนเสิร์ตออกมาประกาศห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น

ผงะ!เด็กใช้"บุหรี่ไฟฟ้า"พุ่ง 5 เท่า สะท้อนนโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้าล้มเหลว

“บุหรี่ไฟฟ้าในทุกวันนี้มีขายเกลื่อนประเทศ ซึ่งทั้งหมดนั้นนับเป็นสินค้าลักลอบ ซึ่งหากพูดกันในเชิงปริมาณแล้ว ก็มีมากไม่แพ้กับบุหรี่เถื่อน ที่กำลังระบาดเลย ซึ่งสองปัญหานี้รวมกัน ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนโดยเฉพาะรัฐบาลไทย ชาวไร่ยาสูบ และร้านค้าปลีก ที่นอกจากจะปล่อยให้รายได้ภาษีจำนวนมหาศาลหลุดมือไป ยังต้องแบกรับภาระทางสาธารณสุขจากสุขภาพของผู้ที่ใช้บุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนไร้มาตรฐานเหล่านี้ด้วย คงไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่านี้แล้วที่จะชี้ว่า นโยบายแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้นล้มเหลวถึงขีดสุดและทำให้เกิดขบวนการทุจริต คอรัปชั่นอย่างมโหฬารจนปราบไม่ไหว”

นายมาริษยังได้กล่าวอีกว่า วันที่ 5- 16 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมภาคีอนุสัญญากรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) ครั้งที่ 10 และการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ (MOP3) ครั้งที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งทางเครือข่ายก็อยากฝากถึงคณะผู้แทนไทยทั้งจากกรมควบคุมโรคและกรมสรรพสามิตที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวว่า 

ขอให้คณะผู้แทนประเทศไทยที่ไปประชุม COP10 ให้ระมัดระวังท่าทีของไทย ทั้งที่เห็นอยู่ว่าการแบนนั้นไม่ได้ผล ทำให้เกิดตลาดใต้ดิน ไม่ได้ลดจำนวนผู้ใช้ จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญในสภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน เพื่อพิจารณาทบทวบมาตรการให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมในปัจจุบันซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป

นอกจากนี้ สำหรับการประชุม MOP3 เรื่องปัญหาบุหรี่เถื่อน อยากให้สะท้อนปัญหาบุหรี่เถื่อนให้ประเทศอื่นรับทราบ โดยเฉพาะแหล่งผลิตบุหรี่เถื่อนเหล่านี้ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอย่าได้ไปรับแนวคิดการแบน อะไรมากลับมาอีก เพราะยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของประเทศไทย