จากกรณีที่รัฐบาลเตรียมแก้กฎหมายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานบริการพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ที่สนับสนุนและคัดค้านเรื่องนี้
ล่าสุด เครือข่ายองค์กรงดเหล้า โดยนายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า พร้อมด้วย ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น เนื่องในวันมะเร็งโลกทางเพจเช็คอินกินกาแฟแชร์เรื่องเหล้า
นายธีระ ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันมะเร็งโลกเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงอันตรายและปัจจัยเสี่ยงของโรคดังกล่าวซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แต่ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ยกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีหลายฝ่ายอยากให้ปรับเปลี่ยนนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ทั้ง ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงเป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็งด้วย ดังนั้น จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องมาหารือกันถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ด้าน ภก.สงกรานต์ ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่จะรู้แค่ว่า แอลกอฮอล์ ทำให้ตับแข็ง และมะเร็งตับเท่านั้น แต่วันนี้ชัดเจนว่า ทำเกิดมะเร็งไม่ต่ำกว่า 7 อวัยวะ อาทิ มะเร็งปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งกระเพาะ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งต่อมไทยรอยด์ และมะเร็งเต้านมซึ่งผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องนี้ ถือเป็นความเสี่ยงที่น่าห่วง
สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจปี ล่าสุด พบผู้หญิงดื่มมากกว่าผู้ชาย อาจด้วยความเชื่อเรื่องเสรีนิยม ความเท่าเทียม ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ธุรกิจทราบว่า ผู้หญิงเอเชียยังดื่มน้อยจึงลงทุนจ้างนักร้องสาวชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่า สถิติมะเร็งเต้านมของผู้หญิงจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตหรือกลายเป็นคนพิการ เพราะแอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์กดสมอง แค่ดื่มกระป๋องเดียว หรือแก้วเดียวก็ทำให้การตัดสินใจช้าลง สถิติยังชี้ให้เห็นชัดเจนว่า 80% เป็นเยาวชนดื่มแอลกอฮอล์
นี่เป็นต้นเหตุปัญหาสุขภาพ สังคม ครอบครัว มีคนเสียอนาคตมากมาย แต่รัฐบาลกลับไม่มองปัญหาเหล่านี้เลย กระทั่ง สส.ที่อภิปรายในสภาส่วนใหญ่ใช้ความเห็นส่วนตัว โดยไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย รัฐบาลก็ไม่ดูข้อมูล แม้แต่การพูดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขายเหล้าให้ได้มากก็ยังไม่รู้ว่า เป็นประโยชน์ต่อเศษฐกิจจริงหรือไม่
ผลกระทบจากแอลกอฮอล์ทำให้ไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท จากการรักษาและการทำงานด้อยประสิทธิภาพ ยังไม่รวมค่าเครื่องดื่มไม่ต่ำกกว่า 3 แสนล้านบาท หากเปลี่ยนค่าเหล้าไปเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่รัฐบาลบอกว่า จะส่งเสริมเป็นซอฟต์พาวเวอร์จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมหาศาลโดยไม่ต้องไปกู้เงินมาแจก
ตรงกันข้ามรัฐบาลกลับคิดจะส่งเสริมการขายสุราให้ได้มากขึ้นและนานขึ้นโดยจะเพิ่มเวลาขายตามที่มีข่าวมาว่า รัฐบาลจะไปแก้กฎหมายให้เสรีมากขึ้น มองคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มเดียวที่มีคนไม่ถึง 5 % ที่อยู่ในธุรกิจแอลกอฮอล์ แต่ลืมคนอีกกว่า 95% ทั้งประเทศ ที่มีความเสี่ยงจากความดื่มแอลกอฮอล์
วันนี้ไม่ใช่แค่องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เห็นปัญหา แม้แต่ธนาคารโลกยังพูดว่า ยิ่งควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งดีต่อเศรษฐกิจ ตรงนี้รัฐบาลก็ไม่มีข้อมูลเหมือนกันมีแต่ข้อมูลว่า สุราขายไม่ดี จะส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการให้ดื่มมากขึ้น ทั้งที่ผลสำรวจบอกว่า นักท่องเที่ยวมาเพราะสนใจวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ธรรมชาติสวยงาม อาหารอร่อย
ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าดูงบประมาณสาธารณสุขทั้งหมดจะเห็นว่างบฯ ส่วนใหญ่ของกระทรวง หรือหน่วยงานด้านสุขภาพถูกเอาไปใช้ในการรักษาโรค ที่มีอยู่ก็ถือว่าค่อนข้างจำกัด หากไม่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค มีเงินแค่ไหนก็ไม่มีทางเอาอยู่ โดยเฉพาะ 70-80 % เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่สามารถป้องกันได้ แต่การป้องกันรณรงค์ให้ความรู้อย่างเดียวยังไม่พอต้องมีนโยบายสาธารณะ ดีที่สุด คือ มีกฎหมายควบคุมปัจจัยเสี่ยงไม่ให้ธุรกิจที่มีอันตรายทำได้อย่างเสรี
ด้าน ดร.ภญ.อรทัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีเอทานอนซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารออกฤทธิ์ต่อสมอง เป็นสารเสพติด และเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้ประกาศว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ กลุ่มที่ 1 (carcinogenic) ตั้งแต่ปี 1987 แต่คนไม่ได้พูดถึงมากนัก
กระทั่งมีงานวิจัยมากขึ้นและยืนยันว่า ไม่มีปริมาณการดื่มที่ปลอดภัย อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังระบุว่า ถ้าสูบบุหรี่ร่วมด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งขึ้น 5 เท่า และสูงขึ้น 30 เท่าในคนดื่มหนัก
สำหรับข้อมูลล่าสุดที่เพิ่งออกมาเมื่อมกราคม 2567 พบทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็ง 740,000 คนต่อปี โดยมะเร็งที่เกิดจากแอลกอฮอล์ สูงสุด คือ มะเร็งช่องปาก รองลงมา คือ มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย พบเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ แต่ที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด คืออุบัติเหตุทางถนน
ขณะนี้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงปัญหาแอลกอฮอล์ก่อโรคมะเร็ง ทำให้มีการออกมาตรการป้องกันและให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงมีการเรียกร้อง ผลักดันให้มีการจัดทำฉลากคำเตือน รวมถึงคำแนะนำการดื่มบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย, แคนาดา รวมถึงไอซ์แลนด์ก็จะบังคับใช้เร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้หลายประเทศในยุโรปยังเรียกร้องให้ออกนโยบายจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ภาษี ลดการเข้าถึงผ่านโฆษณา และเพิ่มความตระหนักเสี่ยงมะเร็ง เช่น ฉลากคำเตือน และพัฒนาหน่วยสุขภาพเตรียมความพร้อมการคัดกรอง รักษาเข้มข้น
เหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องที่ออกมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาซึ่งการที่ต้องออกฉลากคำเตือนเพราะเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่รับรู้ได้ แม้ฉลากไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมแต่สร้างความตระหนักได้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดาซึ่งพบว่า ในบางประเทศยังทำไม่สำเร็จเพราะถูกขัดขวางอย่างหนักจากกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์