สรุปผลศึกษากมธ. สแกนข้อดี-ผลกระทบ โครงการแลนด์บริดจ์

22 ม.ค. 2567 | 12:44 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2567 | 13:11 น.
2.8 k

ผลศึกษาของกมธ. ระบุข้อดีของ โครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมทะเลอ่าวไทย อันดามันเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน พัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้ แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน

KEY

POINTS

  • ผลศึกษาของกมธ. ระบุข้อดีของโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน ให้เกิดอุตสาหกรรมหลังท่าและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้และประเทศไทย
  • แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน ความชัดเจนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน การชดเชยให้ผู้มีส่วนได้เสีย การบริหารจัดการเกี่ยวกับน้ำและไฟฟ้า
  • กมธ. เสนอให้รัฐบาลออกพ.ร.บ. ที่คล้ายกับพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องมีกฎหมายเฉพาะในการดำเนินการ รวมทั้งต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตั้งกองทุนเยียวยาและดูแลประชาชนในพื้นที่

“แลนด์บริดจ์” โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน นับเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องการผลักดัน โดยหวังว่าจะช่วยสร้างอาชีพ รายได้ และพัฒนาพื้นที่ให้คนในพื้นที่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ครม.สัญจร ครั้งที่ 2 เรามี จ.ระนอง เป็นเป้าหมายครับ เพราะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะมีบทบาทสำคัญมากในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยโครงการแลนด์บริดจ์จะมาสร้างอาชีพ รายได้ และพัฒนาพื้นที่ให้คนในพื้นที่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนครับ” โดยเศรษฐา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ยังมีเสียงค้านของประชาชนในพื้นที่จ.ระนอง และชุมพร บางส่วน

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนรายงานการศึกษา แลนด์บริดจ์ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้สรุปผลการศึกษา
 

โครงการแลนด์บริดจ์(Landbridge) ของสนข.

เพื่อความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวฐานเศรษฐกิจจึงนำผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ของกมธ. ที่ได้สรุปไว้ในบทสรุปสำหรับผู้บริหารในประเด็นสำคัญมานำเสนอ

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ระบุคณะกรรมาธิการ ได้ทำการศึกษาและทบทวนวรรณกรรมจากเอกสารทางราชการ ข้อมูลจากระบบสารสนเทศ สิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆ ข้อมูลทางวิชาการในเว็บไซต์ของประเทศไทยและต่างประเทศ การสัมภาษณ์เชิงลึก การให้ข้อมูลจากผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดผลการศึกษาในแต่ละประเด็น ดังนี้

โครงการแลนด์บริดจ์(Landbridge) คือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทย อันดามัน คือ ท่าเรือฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร เเละท่าเรือฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง

รูปแบบโครงการแลนด์บริดจ์(Landbridge)ของสนข.

โดยโครงการแลนด์บริดจ์เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด ‘One Port Two Side’ และการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและกิจกรรมเชิงพาณิชย์โดยได้คัดเลือกจุดก่อสร้างท่าเรือทั้งสองฝั่ง คือ บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีระยะการพัฒนา 4 ระยะ โดยเมื่อครบ 4 ระยะ จะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู

รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม คือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปีโดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ เหตุผลของการเสนอให้มีการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มีลักษณะจุดแข็งสำคัญของประเทศไทยที่คาดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมาก ได้แก่

1. ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประตูในการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก ซึ่งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์โดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ภาคใต้ของประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการค้า และการลงทุนภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้

ตลอดจนการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งทางด้านทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์และสร้างนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมอาหาร ต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ และอุตสาหกรรม New S-curve เป็นต้น เพื่อการขนส่งและแลกเปลี่ยนสินค้าของประเทศในภูมิภาค และระหว่างทวีปต่าง ๆ ของโลก

2. จะสามารถลดเวลาและระยะทางการขนส่งจากเดิมที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง

3. หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดในการเดินเรือของช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง แชร์ส่วนแบ่งการเดินเรือและค่าธรรมเนียมจากช่องแคบมะละกา

4. มีแนวโน้มในการจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางแลนด์บริดจ์นี้มากขึ้น เพราะสามารถลดเวลาในการเดินทางจากเส้นทางเดิมและประหยัดค่าใช้จ่ายได้

5. เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชียคาดการณ์ว่า จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง อัตราผลตอบแทนทางการเงิน มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ รวมทั้งเป็นส่วนช่วยท าให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิม

รูปแบบเส้นทางโครงการแลนด์บริดจ์(Landbridge)ของสนข.

ซึ่งเป้าหมายให้ประเทศไทยพัฒนาดังนี้

1. เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ และการลงทุนระดับนานาชาติ

2. เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า และอุตสาหกรรม Green Mega Trend

3. ประสิทธิภาพของระบบ Digital Logistic Transportation Distribution

4. สร้างความเจริญ พัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกพื้นที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ตลอดจนเพิ่ม GDP ของประเทศให้เพิ่มขึ้น

5. โอกาสของการจ้างงาน และการเพิ่มรายได้

ในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์จำเป็นจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมาย โดยคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตราเป็นพระราชบัญญัติที่คล้ายคลึงกับพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการดำเนินการ

นอกจากนี้แล้วจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรงและจะต้องพิจารณาพื้นที่ชุ่มน้ำ ภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์ด้วย เช่น ในเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสน - ปากแม่น้ำกระบุรี - ปากคลองกะเปอร์ เป็นต้น

รูปแบบแนวเส้นทางโครงการแลนด์บริดจ์(Landbridge)ของสนข.

การดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์นี้จะต้องเกี่ยวข้องกับการตราพระราชบัญญัติ และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามที่ได้กำหนดไว้ เช่น การทำการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility Study) และ (Post-feasibility Study) จัดรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางด้านสุขภาพ พระราชบัญญัติการเวนคืนที่ดิน (ถ้ามี) เป็นต้น จะต้องมีการประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับ No man’s land บนพื้นที่ 3 เกาะ ซึ่งประกอบด้วย เกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก

ส่วนความคิดเห็นของเอกชนเกี่ยวกับเดินเรือและการขนส่งสินค้านั้น ยังมีความกังวลกับความชัดเจนของโครงการ

อย่างไรก็ตามหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีโครงการใหญ่ดังเช่นโครงการแลนด์บริดจ์แม้จะมีกลุ่มประชาชนส่วนน้อยไม่เห็นด้วยก็ตาม โดยเฉพาะจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะหวังว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าทางการเกษตรในภาคใต้ทั้งยางพารา มังคุด ทุเรียน ปาล์ม เป็นต้น ไปยังต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ยุโรป เป็นต้น

ตลอดจนให้เป็นศูนย์สนับสนุนการส่งออกอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพ การท่องเที่ยวครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเกษตรที่ทันสมัยและยั่งยืน ซึ่งหากมีโครงการนี้ก็จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชนในภาคใต้ และการมีท่าเรือจะท าให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้นแน่นอน และภาคเอกชนมองในระดับประเทศว่าประเทศไทยจะเป็นดาวดวงใหม่ในการแข่งขันในเวทีโลกได้

รูปแบบโครงการแลนด์บริดจ์(Landbridge)ของสนข.

อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและการเวนคืนที่ดินของประชาชนที่รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ประชาชนพอใจ และควรเตรียมแผนการพัฒนาแรงงานในพื้นที่ เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ตลอดจนควรเตรียมวางแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประมงพื้นบ้านและที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ จะต้องมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข้อมูลที่ชัดเจนและมีส่วนร่วมในโครงการแลนด์บริดจ์นี้ด้วย

นอกจากนี้แล้ว ต่างประเทศมีความสนใจและจับตาดูการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทยว่าจะดำเนินการอย่างไร และบางประเทศมีความสนใจที่จะมาร่วมลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้และบริเวณพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์นี้ ถ้าเกิดการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ นอกจากทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ประชาชนมีอยู่มีกินแล้ว จะทำเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจภาคใต้และประเทศไทยโดยภาพรวม

อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะแก้ปัญหาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และตั้งกองทุนที่จะเยียวยาและดูแลประชาชนในพื้นที่ซึ่งเสียสละให้รัฐบาลสามารถดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ได้

โดยสรุปแล้วโครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยอันดามัน คือ ท่าเรือฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร เเละท่าเรือฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยโครงการแลนด์บริดจ์เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นเครื่องมือ หรือตัวนำที่เป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดการลงทุน เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมหลังท่าและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้และประเทศไทย

อย่างไรก็ตามก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน ความชัดเจนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินรวมทั้งการชดเชยต่าง ๆ เอกสารสิทธิ์ในที่ดิน สวัสดิการต่าง ๆ หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ผู้มีส่วนได้เสียจะได้รับ รวมถึงการจ้างแรงงานการเตรียมความพร้อมแรงงาน การบริหารจัดการเกี่ยวกับน้ำและไฟฟ้า หากรัฐบาลสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจนและพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการอย่างรอบคอบแล้ว อาจจะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น