เปิดพิมพ์เขียว แลนด์บริดจ์ บิ๊กรับเหมาไทย-เทศ ลุ้น แบ่งเค้ก 1 ล้านล้าน

22 ม.ค. 2567 | 09:26 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2567 | 10:00 น.

เปิดพิมพ์เขียว-เนื้องาน โครงการแลนด์บริดจ์ 4 เฟส 1 ล้านล้าน บิ๊กรับเหมาไทย-ต่างประเทศ ลุ้น เปิดประมูล ต้นปี 68 แบ่งเค้ก

KEY

POINTS

  • รัฐบาลเศรษฐา เดินสายโรดโชว์ต่างประเทศ ดึงนักลงทุนจีน-สหรัฐฯ-ยุโรป ลงทุนนโยบาย "เรือธง" แลนด์บริดจ์ 
  • เปิดพิมพ์เขียว-เนื้องาน โครงการแลนด์บริดจ์ 4 เฟส 1 ล้านล้าน ปักหมุดเปิดประมูลต้นปี 68 
  • บิ๊กรับเหมาไทย-ต่างประเทศ ลุ้น แบ่งเค้ก เมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ ท่าเรือ-มอเตอร์เวย์-ทางรถไฟ

เมกะโปรเจกต์แลนด์บริดจ์ ภายใต้รัฐบาลเศรษฐ ทวีสิน เดินสายโรดโชว์ทั่วโลก ชักชวนนักลงทุนบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป  

โดย “บิ๊กรัฐบาล” ปักหมุดเปิดประมูลโครงการมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านต้นปี 68 โดยให้เอกชนร่วมลงขันเป็นกิจการร่วมค้าลงทุนโครงการเองทั้งหมดทั้งโครงการ

สำหรับ “พิมพ์เขียว” โครงการแลนด์บริดจ์ วงเงินลงทุนทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 เนื้องาน 4 ระยะ รูปแบบการลงทุน การร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) ระยะเวลา 50 ปี  

เนื้องานแรก ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบเป็น 3 ระยะ รองรับสินค้าได้ 20 ล้านทีอียู ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร 

เนื้องานที่สอง ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ออกแบบเป็น 4 ระยะ รองรับสินค้าได้ 20 ล้านทีอียู ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร 

เนื้องานที่สาม เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ระยะทาง 90 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะแรก 4 ช่องจราจร ทางรถไฟ ขนาด 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack) ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร 2 ทาง

อุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทาง 21 กม. ระดับทางดิน 39.5 กม. สะพาน 30 กม. เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่วางท่อขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ชุมชนทั้ง 2 ฝั่งเดินทางถึงกันด้วยสะพานลอย และทางลอดข้ามโครงการ 

เนื้องานที่สี่ การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า โดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ 

การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ 4 ระยะ 

ระยะแรก เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร รองรับสินค้า 4 ล้าน ทีอียู จำนวน 118,519.50 ล้านบาท ก่อสร้างทางเรือน้ำลึกฝั่งระนอง รองรับสินค้า 6 ล้าน ทีอียู จำนวน 141,716.02 ล้านบาท

ก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 4 ช่องจราจร จำนวน 195,504 ล้านบาท ก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท ค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212 ล้านบาท 

ระยะที่สอง วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท ประกอบด้วย ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร รองรับสินค้าเพิ่มอีก 4 ล้าน ทีอียู จำนวน 45,644.75 ล้านบาท ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง รองรับสินค้าเพิ่มอีก 6 ล้าน ทีอียู จำนวน 73,164.78 ล้านบาท

ก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ โดยขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองจาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร จำนวน 21,910 ล้านบาท ก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 23,952.30 ล้านบาท 

ระยะที่สาม วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร รองรับสินค้าเพิ่มอีก 6 ล้าน ทีอียู จำนวน 73,221.99 ล้านบาท

ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง รองรับสินค้าเพิ่มอีก 8 ล้าน ทีอียู จำนวน 115,929.76 ล้านบาท งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 39,361.04 ล้านบาท 

ระยะที่สี่ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร รองรับสินค้าเพิ่มอีก 6 ล้าน ทีอียู จำนวน 68,280.20 ล้านบาท ก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท