เปิด 20 notice จุดเสี่ยงความมั่นคง แลนด์บริดจ์

19 ม.ค. 2567 | 16:41 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 17:01 น.

เปิดรายงานผลการศึกษา กมธ.แลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนฯ ชี้ 20 ข้อสังเกต ด้านความมั่นคง-ภัยคุกคาม ทางการเมืองมหาอำนาจ-ประเทศเพื่อนบ้าน

KEY

POINTS

  • เปิดรายงานผลการศึกษา กมธ.วิสามัญฯ โครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนฯ ฉบับเจ้าปัญหา
  • ชี้ 20 ข้อสังเกต ด้านความมั่นคง-ภัยคุกคาม ทางการเมืองมหาอำนาจ-ประเทศเพื่อนบ้าน
  • จุดยืนไทย บนสมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกต้อง "เป็นกลาง" หวั่น เป็นจุดยุทธศาสตร์สงครามครั้งใหญ่-กระทบกระทั่งแดนกันชนเมียนมา 

โครงการแลนด์บริดจ์กับมิติด้านความมั่นคง “แยกกันไม่ออก” เมื่อไทยต้องเปิดประตูทางทะเล-ทางบก ต้อนรับนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก 

คณะกรรมการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ จึงเชิญหน่วยงานด้านความมั่นคงมาให้ข้อมูล ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จำแนกออกเป็น 20 ประเด็น

เนื้อหอมประเทศมหาอำนาจ 

ประเด็นแรก ในมิติด้านความมั่นคงจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบขนส่งและเคลื่อนย้ายกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปกป้องประเทศตลอดพื้นที่สองฝั่งทะเลระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน 

แต่มีข้อที่ควรพิจารณา คือ ภายหลังโครงการแลนด์บริดจ์ก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่ของโครงการดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญและจะได้รับความสนใจจากประเทศมหาอำนาจที่จะแผ่ขายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่และอาจมีผลกระทบ

รวมทั้งความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเลอื่น ๆ เนื่องจากโครงการนี้จะมีผลให้กิจกรรมทางทะเลเพิ่มมากขึ้น เช่น โจรสลัด การลักลอบขนย้ายสินค้าหนีภาษี และการตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อการร้าย 

ประเด็นที่สอง ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือและรักษาดุลยภาพระหว่างตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในโครงการของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะมีผลต่อเรื่องความมั่นคงเช่นกัน

ประเด็นที่สาม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในอดีตเคยมีความพยายามจะสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมทะเลทั้งสองฝั่ง แต่สาเหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีฝ่ายได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

ในกรณีของประเทศไทย ถ้าเลือกวิธีการเชื่อมทะเลทั้งสองฝั่งด้วยการขุดคลองและสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือสหรัฐอเมริกาต้องการเข้ามา ประเทศไทยจะต้านทานอิทธิพลของชาติมหาอำนาจได้หรือไม่ ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยถูกกดดันจากชาติมหาอำนาจ

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างโครงการแลนด์บริดจ์กับคลองไทยในมิติความมั่นคงแล้ว มีความเห็นว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความเหมาะสมมากกว่าคลองไทย

จุดยุทธศาสตร์สงครามขนาดใหญ่ 

ประเด็นที่สี่ ถ้าสามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติได้ย่อมทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้น แต่ในอนาคตหากเกิดการทำสงครามขนาดใหญ่ พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ประเด็นที่ห้า พื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 ในการนี้คาดการณ์ว่าประเทศมหาอำนาจจะมีความประสงค์ต้องการเข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นถนน เส้นทางรถไฟ หรือระบบท่อส่งพลังงาน

ในขณะเดียวกันถ้าเส้นทางการเดินเรือฝั่งทะเลอันดามันเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยขึ้นไปทางตอนเหนือของจังหวัดระนอง อาจกระทบต่อพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณเกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก

หรือในกรณีของประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์เพราะเสียประโยชน์จากรายได้ของท่าเรือในช่องแคบมะละกา

เอ็นจีโอ-การเมืองขั้วตรงข้ามจุดกระแสต้าน

ประเด็นที่หก ผลกระทบความมั่นคงภายในเช่นกัน โครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ภายในพื้นที่

รวมไปถึงการต่อต้านจากกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างในทางการเมืองที่อาจนำประเด็นนี้มาส่งเสริมให้เกิดการต่อต้านโครงการในระดับประเทศต่อไป และการดึงกลุ่มประมงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาเป็นแนวร่วมในการต่อต้านโครงการด้วย

ประเด็นที่เจ็ด อาจเป็นช่องทางการขนส่งยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจำนวนมากไปยังประเทศที่สามหรือการเพิ่มจำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมระยะยาว ปัญหาการบุกรุกและการเข้าครอบครองพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ เพื่อหวังเงินจากการเวนคืนที่ดินจากภาครัฐ

กระทั่งแดนกันชนไทย-เมียนมา 

ประเด็นที่แปด ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น กรณีของเมียนมา คาดว่าในระยะสั้นอาจยังไม่มีปัญหา แต่มีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ข้อพิพาทในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมา 2 แห่ง ได้แก่

  • การอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่เกาะกลางแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง
  • ปัญหาการอ้างสิทธิ์พื้นที่ 3 เกาะ ประกอบด้วย เกาะหลาม เกาะคัน เกาะขี้นก บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ซึ่งปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายไทยอ้างแผนที่เดินเรือของไทย ส่วนฝ่ายเมียนมาอ้างแผนที่เดินเรือของอังกฤษ 

จากการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-เมียนมา เมื่อปี 2538 ทั้งสองฝ่ายมีมติร่วมกันให้พื้นที่ทั้ง 3 เกาะ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ไปก่อน (NO man’s land) ซึ่งปัจจุบันข้อพิพาทของทั้งสองประเทศในพื้นที่พิพาทดังกล่าวยังไม่ได้นำสู่ความขัดแย้งระหว่างกันแต่อย่างใด

แต่ถ้าที่ตั้งของโครงการแลนด์บริดจ์และมีผลต่อการเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ อาจถือได้ว่าเป็นการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่พิพาทของประเทศไทย ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านและทำให้เกิดข้อพิพาทกับเมียนมาได้ในอนาคต 

ประเด็นที่เก้า โครงการแลนด์บริดจ์น่าจะอยู่ในขีดความสามารถในการควบคุมและกำกับดูแลด้านความมั่นคงในพื้นที่ได้ดีกว่าคลอง กรณีถ้าขุดคลองจะเป็นเส้นทางให้เรือรบสามารถเดินเรือผ่านไปได้

ต่างจากโครงการแลนด์บริดจ์ที่เรือรบไม่อาจผ่านได้ เพราะต้องเคลื่อนย้ายและขนส่งผ่านระบบรางและถนน อำนาจกำลังรบของประเทศมหาอำนาจจะไม่ใช้พื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อเคลื่อนย้ายกำลัง 

ในทางกลับกัน ถ้าขุดคลองเชื่อมทะเลทั้งสองฝั่งจะมีผลให้พื้นที่คลองกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลและจะมีการช่วงชิงกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะมีผลต่อการดำรงสถานภาพของประเทศไทยที่ต้องวางตัวเป็นกลางทันที และยากต่อการรับมือจากแรงกดดันของประเทศมหาอำนาจ

ส่วนการก่อสร้างท่าเทียบเรือในฝั่งจังหวัดระนองที่ใกล้กับหมู่เกาะของประเทศเพื่อนบ้านนั้น โดยหลักแล้วรัฐชายฝั่งมีอำนาจตามขอบเขตของกฎหมายหมายทะเล

ประเด็นที่สิบ กรณีการใช้ท่าเทียบเรือสำหรับเรือรบนั้น ตามปกติแล้วถ้าประเทศใดต้องการนำเรือรบหรืออากาศยานผ่านหรือเข้ามายังพื้นที่ของอีกประเทศจะต้องผ่านขั้นตอนทางการทูตก่อน ถ้ามีเหตุผลและความจำเป็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหมจะยินยอมให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวได้

ประเด็นที่สิบเอ็ด การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ท่าเทียบเรือโครงการแลนด์บริดจ์ของผู้ได้รับสัมปทานในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือบรรทุก หรือ เรือรบ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสัญญาที่ลงนามร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลไทยควรหาแนวทางไม่ให้ต่างประเทศกดดันประเทศไทยได้ในอนาคต 

ประเด็นที่สิบสอง ปัจจุบันมีฐานทัพเรือใหญ่ที่จังหวัดพังงา และฐานทัพเรือสำหรับเรือเล็กที่จังหวัดระนอง ส่วนฐานทัพเรือที่จังหวัดพังงาจะรองรับได้หรือไม่นั้น จะต้องได้ข้อมูลที่ชัดเจนก่อนว่าเมื่อก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์แล้ว จะมีเรือประเภทใดสัญจรในบริเวณดังกล่าว และต้องรอการพิจารณาจากกองทัพไทยว่าจะมอบหมายให้กองทัพเรือรับผิดชอบพื้นที่ตามชายฝั่งที่จะมีการก่อสร้างโรงงานหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น เพื่อให้สอดรับกับโครงการแลนด์บริดจ์ หรือไม่ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน

เสริมเขี้ยวเล็บทัพเรือ-ทัพอากาศ 

ประเด็นที่สิบสาม ถ้าในอนาคตด้วยเงื่อนไขทางยุทโธปกรณ์ทำให้กองทัพเรือไม่สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้เพียงพอ จะมีความจำเป็นที่ต้องขอรับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น

หรือแม้แต่การก่อสร้างฐานทัพเรือหรืออู่ซ่อมเรือเพิ่มเติมเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ทางทะเลฝั่งอันดามัน เพื่อให้สามารถคงกำลังทางเรืออยู่ในพื้นที่ไปตลอด เนื่องจากการส่งเรือไปดูแลรักษาทะเลอันดามัน ปัจจุบันจำเป็นต้องเดินเรือผ่านทางแหลมมาลายู ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 วัน

ประเด็นที่สิบสี่ กองทัพอากาศ มีกองบินในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศไทย 3 แห่ง ประกอบด้วย กองบิน 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากโครงการแลนด์บริดจ์ ประมาณ 210 กิโลเมตร กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากโครงการแลนด์บริดจ์ ประมาณ 100 กิโลเมตร และ กองบิน 56 จังหวัดสงขลา ซึ่งพร้อมดูแลผลประโยชน์ทางอากาศและการบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งกองบิน 7 จะมีเครื่องบินรบเข้าประจำการ ซึ่งมีความต้องการสนามบินที่มีความยาวไม่ต่ำกว่า 3 กิโลเมตร เพื่อความปลอดภัย 

ดังนั้น หากมีการปรับปรุงท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์จังหวัดระนองจำเป็นต้องมีสนามบินที่มีความยาวใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของกองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความพร้อมที่จะดูแลในพื้นที่จังหวัดระนอง

แต่การลงทุนสร้างสนามบินในอนาคต จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือถ้าจะให้สนามบินทหารเข้าไปใกล้จังหวัดระนอง เท่ากับว่าจะเข้าใกล้ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งตามหลักของการใช้กำลังทางอากาศนั้นจะไม่สร้างสนามบินทหารใกล้กับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไป

ประเด็นที่สิบห้า ขณะนี้ยังไม่เห็นถึงการส่งสัญญาณจากประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตามปัจจุบันจีนได้ลงทุนในประเทศไทย เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ในจังหวัดระยอง ดังนั้น หากมีการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นการลงทุนในทางเศรษฐกิจ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบแต่อย่างใด

ประเด็นที่สิบหก สำหรับประเมินความเสียงและผลกระทบของโครงการแลนด์บริดจ์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้พิจารณาในหลายประเด็น ได้แก่

  • ประเด็นด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเข้มงวด 
  • ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการแลนด์บริดจ์ตั้งอยู่นอกพื้นที่การปฏิบัติการของผู้ก่อความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม อาจมีการก่อเหตุในเชิงสัญลักษณ์ตามพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ก่อความไม่สงบ 
  • การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ต้องเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ยาเสพติด สินค้าผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่อาจใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม การป้องกันและบริหารจัดการกรณีการก่อเหตุรุนแรง รวมถึงการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ
  • ภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ 
  • การปรับปรุงขีดความสามารถด้านสมุทราภิบาลของภาครัฐ โดยเฉพาะการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning) และการประเมินสถานะของทรัพยากรทางทะเลเพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

รวมถึงการวางแผนเชิงพื้นที่เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ได้แก่ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน การกำหนดเส้นทางเดินเรือและการป้องกันมลพิษ และการป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันหรือสารเคมี

สิงคโปร์-มาเลเซียเกาะติด

ประเด็นที่สิบเจ็ด ท่าทีของต่างประเทศต่อโครงการแลนด์บริดจ์ภายหลังนายกรัฐมนตรีได้นำไปเสนอต่อผู้นำประเทศในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ พบว่าท่าทีของต่างประเทศในมิติความมั่นคงยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเป็นทางการ โดยมีเพียงเฉพาะประเด็นในทางเศรษฐกิจเท่านั้น 

เช่น เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ส.ส. ของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ตั้งกระทู้ถามท่าทีของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มี ต่อโครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐสิงคโปร์ ชี้แจงว่ารัฐบาลสิงคโปร์ติดตามสถานการณ์ของประเทศไทย โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวของประเทศไทยมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะต้นทุนการก่อสร้างโครงการที่มีราคาสูง 

เช่นเดียวกับ สื่อมวลชนของประเทศมาเลเซีย มีรายงานถึงข้อห่วงกังวลจากสถาบันวิจัยทางด้านเศรษฐกิจ และหน่วยงานบริหารท่าเทียบเรือของประเทศมาเลเซียว่าผลประโยชน์ทางทะเลจากการบริหารจัดการท่าเทียบเรือของประเทศอาจได้รับผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซีย ชี้แจงว่า มาเลเซียจะเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเทียบเรือต่อไป

นอกจากนี้ สื่อมวลชนของประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสนใจต่อโครงการดังกล่าว โดยมีการรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ของประเทศไทยจะเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประเด็นที่สิบแปด ศรชล. พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่รับผิดชอบ โดยจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามทางทะเลที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป กำหนดแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อมของ ศรชล.

รวมถึงกลไกการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของ ศรชล. ร่วมกับหน่วยงานหลักของ ศรชล. 7 หน่วยงานและหน่วยงานระดับพื้นที่ของ ศรชล. ทั้ง ศรชล.ภาค และ ศรชล.จังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการบูรณาการในการรักษากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายทางทะเล และการช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่พื้นที่เขตท่าเรือ แพปลา ไปจนถึงเขตทางทะเลในความรับผิดชอบของศรชล.ต่อไป 

ประเด็นที่สิบเก้า ศรชล. ได้มีการนำแผนเผชิญเหตุต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอ่าวไทยตอนบน โดยหากมีโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ แล้วมีกรณีเรือขนาดใหญ่ชนกันจนทำให้เกิดน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์รั่วไหลทางหน่วยงานได้เตรียมจัดทำแผนรองรับไว้ และมีการติดตามเฝ้าระวัง

โดยดำเนินการร่วมมือกับหน่วยงานทางทะเลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการเตรียมแผนเผชิญเหตุต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยจะมีความร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ซึ่งมีการใช้แผนที่ One Marine Chart พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ได้แก่ หญ้าทะเล ปะการัง

โดยจะมีแพลตฟอร์มในการบริหารจัดการเชิงนโยบายเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในเขตพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกันและมีการนำ Big Data มาใช้ในการสนับสนุนกลไกของรัฐในการดำเนินการต่าง ๆ อีกด้วย

ประเด็นที่ยี่สิบ สำหรับการเตรียมความพร้อมในเรื่องของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกับประเทศเพื่อนบ้านได้มีการหารือและมีปฏิสัมพันธ์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยผ่านศูนย์ประสานงานของกองทัพเรือซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่โดยตรง ซึ่งอยู่ในแผนการสร้างความร่วมมือร่วมกันในประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย