สำนักงบ-สศช. ติงลดภาษีดีเซลต่อเนื่อง สะเทือนรายได้รัฐ

17 ม.ค. 2567 | 12:02 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2567 | 12:07 น.

สำนักงบประมาณ - สศช. ส่งความเห็นประกอบมติครม. ไฟเขียวลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร นาน 3 เดือน เตือนกระทบรายได้รัฐ แนะช่วยเหลือประชาชนเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยก่อน

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดมีมติเห็นชอบการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกันลง 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 ซึ่งมีผลให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเดือนละประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมกันเป็นเงินสูงถึง 6,000 ล้านบาท นั้น 

ล่าสุดสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีความเห็นถึงการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลครั้งนี้ โดยทั้งสองหน่วยงาน ระบุว่าเห็นควรให้ครม.เห็นชอบ และไม่ได้ขัดข้องในหลักการของการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่มีข้อแนะนำเสนอให้ครม.รับทราบ ดังนี้

สำนักงบประมาณ แจ้งว่า เพื่อให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่สะท้อนต้นทุนตามข้อเท็จจริง เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภาระการชดเชยต้นทุนส่วนต่าง 

เช่นเดียวกับความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้อง และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ ติดตาม การประเมินผลสัมฤทธิ์ และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ตามนัยแห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป
 

ส่วน สศช. ระบุว่า สศช. ได้พิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้องในหลักการของการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันยังอยู่ในระดับทรงตัว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ขณะที่การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกันอย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 

ดังนั้น สศช. จึงเห็นควรให้ภาครัฐเร่งดำเนินการปรับโครงสร้าง ราคาพลังงานให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเพื่อทดแทนการดำเนินมาตรการทางภาษี ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยและมีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและค่าครองชีพ 

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนและระบบเศรษฐกิจมีการปรับตัวต่อการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน รวมทั้งเพื่อลดแรงกดดันต่อฐานะการคลังของประเทศและเตรียมพื้นที่ทางการคลังไว้สำหรับรองรับในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป