เสียงสะท้อนสุราพื้นบ้าน ลดภาษีไม่ช่วยให้รอด แก้กฎหมายโฆษณาดีกว่า

04 ม.ค. 2567 | 18:08 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2567 | 18:29 น.

สมาคมสุราท้องถิ่นไทย ชี้มาตรการลดภาษีสุรา ไม่ช่วยให้รอด สะท้อนปัญหา ผลิตได้ ขายไม่ได้ ผู้ผลิตสุราพื้นบ้าน ยอมขาดทุน ออกบูธหาช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้า วอนแก้กฎหมายโฆษณาดีกว่า

แม้ว่ามาตรการลดภาษีสุรา ที่ออกโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 จะมุ่งหวังยกระดับสุราพื้นบ้าน และช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร ตามเป้าประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและใช้จ่าย 

แต่ในมุมมองของกลุ่มผู้ผลิตสุราพื้นบ้าน ที่สะท้อนผ่านการสัมภาษณ์พิเศษ กับฐานเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่า มาตรการดังกล่าวจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาของผู้ผลิตสุราพื้นบ้าน และยกระดับสุราพื้นบ้านได้อย่างตรงจุด

ลดภาษีสุราพื้นบ้าน สุราชุมชน

นายสมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย แสดงความเห็นต่อมาตรการลดภาษีสุราพื้นบ้านในครั้งนี้ว่า เป็นการช่วยเหลือสุราชุมชนเพียงส่วนหนึ่ง เพราะที่รัฐบาลประกาศกับความเป็นจริงมีความแตกต่างกันเยอะ เนื่องจากเป็นการลดภาษีให้กับสุราแช่  ก็คือพวก อุ กระแช่ สาโท ไวน์ แต่ในปัจจุบันสุราชุมชนส่วนใหญ่ 90% เป็นสุรากลั่น หรือเหล้าขาว 

นอกจากนี้เบียร์ชุมชน หรือ คราฟท์เบียร์ ก็ไม่ได้รับอานิสงส์จากการลดภาษีครั้งนี้แม้จะจัดเป็นสุราแช่ก็ตาม แต่เบียร์ถูกจัดหมวดแยกออกไปต่างหาก แต่กลายเป็นว่าไวน์จากต่างประเทศได้รับอานิสงส์ไปด้วยเต็มๆ ซึ่งเข้าใจ และเห็นใจกรมสรรพสามิต ว่าได้พิจารณาแล้ว หากปรับลดภาษีสุรากลั่นลงด้วยจะมีความซับซ้อน อาจขัดกับกฎระเบียบการค้าโลกได้ และหากเป็นการลดภาษีสุรากลั่น จะทำให้โรงใหญ่ได้ประโยชน์ด้วย แม้ว่าจะมีข้อเสนอเกี่ยวกับการลดภาษีให้เฉพาะสุราชุมชนโดยพิจารณาจากกำลังเครื่องจักรและจำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิตก็ตาม 

สำหรับการส่งเสริมสุราชุมชนนั้น นายสมบูรณ์กล่าวว่า แทนที่จะไปลดภาษีให้เปลี่ยนเป็นการลดต้นทุน ให้กับผู้ผลิตสุราชุมชนแทนได้หรือไม่ เช่นการลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ลดต้นทุนวัตถุดิบในการนำมาผลิตสุรา มีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสุราชุมชน หรือวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การลดข้อกำหนดในการจำหน่ายที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยยกเว้นข้อห้ามในการโฆษณา หรือโฆษณาออนไลน์ 

เพราะการห้ามโฆษณาทางออนไลน์นั้น เปรียบเหมือนการทำหมันสุราชุมชน เพราะเป็นการจำกัดการรับรู้ของประชาชนที่มีต่อสุราชุมชน ส่งผลให้ผลิตได้ แต่ขายไม่ได้ ซึ่งหมายรวมถึงฉลากของสุราบนขวดด้วย เพราะกฎหมายห้ามระบุวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสุรา ประวัติความเป็นมาของการผลิตสุรานั้นๆ 

นายสมบูรณ์ เล่าต่อไปว่า ทางกลุ่มสุราพื้นบ้านต่อสู้เรื่องนี้มา 20 ปี ในปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพขึ้นจากเดิมมากแล้ว แต่คนทั่วไปไม่ทราบ เพราะไม่สามารถบรรยายคุณสมบัติของสุราได้ ทั้งที่ผลิตออกมาได้อย่างดีแต่ไม่มีช่องทางในการโฆษณา 

ประชาชนยังคงเข้าใจว่าเหล้าขาวมีกลิ่นรุนแรงเหมือนในอดีต การแก้ข้อกำหนดเรื่องการโฆษณาจึงมีความจำเป็นมากกว่ามาตรการด้านภาษี เพราะเป็นเรื่องที่อธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจได้ยาก 

ต่อคำถามที่ว่า หากมีการปรับลดภาษีสุรากลั่นลง แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ได้ประโยชน์ด้วยนั้น นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทยแสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ยอมรับได้เพราะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของสุราชุมชนลง

เนื่องจากสุราชุมชนที่ผลิตเพื่อแข่งขันกับสุราโรงใหญ่มีจำนวนน้อย เพราะรู้ว่าไม่สามารถแข่งขันได้อยู่แล้ว สุราพื้นบ้านจึงเน้นผลิตสุราพรีเมี่ยม ซึ่งไม่ใช่คู่แข่งกับสุราโรงใหญ่อยู่แล้ว หากมีการลดอัตราภาษีสุรากลั่นลง ก็จะทำให้ต้นทุนต่อขวดลดลงมา แต่หากมีมาตรการพิเศษที่ให้เฉพาะสุรากลั่นชุมชนก็จะยิ่งยอดเยี่ยม 

นายสมบูรณ์ทิ้งท้ายว่า ผู้ผลิตสุราชุมชนในปัจจุบันต้องพยายามหาช่องทางเพื่อขายสินค้าของตนเอง ในบางครั้งก็มีความเสี่ยง เช่นการจ้างให้คนรีวิวในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งถือเป็นการเสี่ยงภัยเพราะผิดกฎหมาย 

ในผู้ผลิตสุราชุมชนบางรายก็อาจได้ออกงานโอทอปซึ่งมีจำนวน แค่ 1-2 รายต่องานเท่านั้น ส่วนผู้ที่พอมีทุนก็อาจไปออกบูธซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยที่ไม่สามารถทราบได้ว่าจะทำยอดขายได้เท่าไหร่ แต่มีความจำเป็นต้องหาพื้นที่ประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเอง ซึ่งขาดทุนทุกงาน ฉะนั้นสถานการณ์ของผู้ผลิตสุราชุมชนค่อนข้างยากลำบาก