สมาคมฯแอลกอฮอล์ไทยจี้ลดภาษี “ไวน์-สุราชุมชน” ควรแก้กฎหมายก่อน

02 ม.ค. 2567 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2567 | 12:16 น.
819

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย จี้รัฐบาลเศรษฐา ลดภาษี “ไวน์-สุราชุมชน” หนุนไทยสวรรค์นักท่องเที่ยวจริงหรือ? ชี้กฎหมายไทยสุดเข้ม ล้าหลัง ทำชุมชนต้องทำงานหนัก แนะสั่งรื้อ แก้ไขด่วน

หลังจากที่กระทรวงการคลัง เสนอที่ประชุมครม.วันนี้ (2 ม.ค. 2567) ปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุราชุมชน ยกเลิกการอนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าทุกสนามบิน หวังดันไทยศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย

โดยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงข่าว "มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย" โดยมาตรการดังกล่าว จะมีทั้งการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสุราชุมชน ตลอดจนการพิจารณายกเลิกการอนุญาตจัดตั้งร้านค้าปลอดภาษี (Duty free) ขาเข้าทุกสนามบิน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้จ่ายและซื้อสินค้าภายในประเทศมากขึ้น แทนการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษี

ล่าสุดที่ประชุมครม.เห็นชอบให้ปรับภาษีสุราชุมชนเหลือ 0 % และให้กรมสรรพสามิตทบทวนเรื่องกฎหมายที่ช่วยสนับสนุนสุราชุมชน

สมาคมฯแอลกอฮอล์ไทยจี้ลดภาษี “ไวน์-สุราชุมชน” ควรแก้กฎหมายก่อน

ต่อเรื่องดังกล่าว  นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (Thai Alcohol Beverage Business Association : TABBA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า เรื่องของการลดภาษีเพื่อจัดเอื้อไวน์ และสุราชุมชนนั้น ประเด็นเรื่องของภาษีไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มควบคุมแอลกอฮอล์ที่เป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการ

ทั้งในเรื่องมาตรการควบคุมสถานที่ห้ามขาย-ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, มาตรการควบคุมวัน และเวลาที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, มาตรการควบคุมอายุและพฤติการณ์ผู้บริโภค, มาตรการควบคุมวิธีการหรือลักษณะการขายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการควบคุมการโฆษณา

“ได้ลดภาษีก็จริงแต่การขายต่อสาธารณะชนยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น ห้ามพูดชื่อสินค้า ตาม พรบ. มาตรา 32 พูดสินค้าไม่ได้ก็ถือเป็นอุปสรรค ผลิตมาจากอะไร เลือกใช้วัตถุดิบอะไรจากชุมชน หากติดบนฉลาก ถือเป็นการอวดอ้าง  ตามมาตรา 26 เรื่องไม่ให้อธิบายเอกลักษณ์ของสุราที่จะชุมชน

สมาคมฯแอลกอฮอล์ไทยจี้ลดภาษี “ไวน์-สุราชุมชน” ควรแก้กฎหมายก่อน

ณ ปัจจุบันการสื่อสารของผู้คนนั้นเปลี่ยนไป ยิ่งในมุมของผู้ประกอบการระดับชุมชน มีทางเดียวที่สามารถนำสุราเปิดจำหน่ายคือ งาน OTOP ก็มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่-เวลา อีก ภาคชุมชนจะต้องทำงานหนักขึ้น โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะไปท่องเที่ยวตามชุมชน นักท่องเที่ยวก็ไม่สามารถทราบได้ว่า ณ พื้นที่นั้นๆ มีสุราอะไรที่เป็นของเด่นของดีเพราะไม่สามารถทำการโฆษณาได้”

นายธนากร ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ข้อเสนอคือ ให้มีการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มันตกยุคไปแล้ว บางข้อสร้างขึ้นมาเมื่อ 20-50 ปีก่อน รื้อมาพิจารณาใหม่ และตัวกฎหมายเป็นประกาศและคำสั่งที่สามารถเพิกถอนได้เช่น กฎหมายฉลาก ซึ่งสามารถเพิกถอนได้เลยและข้อที่ว่าด้วย การประกาศการขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (ขายออนไลน์) สามารถยกเลิกได้ ถ้ารัฐบาลมองว่าสามารถแก้ไขได้ก็ทำได้เลยเช่นกัน

ธนากร คุปตจิตต์

เรื่องของภาษีไวน์-สุราชมชุน ตลาดใหญ่ที่จะใช้ได้และมีผลคือ “สุรา” มากกว่า เนื่องจากไวน์มีผลแค่กลับกลุ่มนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเชื่อว่าในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้จริงแน่นอน ในมุมของธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างโรงแรมก็สามารถเชื่อมโยง ไวน์ไปสู่สุราชุมชน เพราะประเทศไทยมีศักยภาพพอที่จะแข่งขันเรื่องสุราชุมชนได้ เทียบเท่าญี่ปุ่นที่มีสาเก เกาหลีมีโซจู ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่สามารถชูเป็นจุดเด่นได้

“ในมุมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับหลายธุรกิจกลางคืน พร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับรัฐบาล ขอเพียงมีส่วนเข้าร่วมเข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือกับคนที่อยู่ที่แวดวงธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา และพร้อมให้ข้อมูลอย่างจริงจังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สังคมและความมั่งคง เกิดเป็นความยั่งยืนต่อไป”