นักวิชาการค้านลด"ภาษีสุราพื้นบ้าน" กระตุ้นท่องเที่ยว ได้ไม่คุ้มเสีย

03 ม.ค. 2567 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2567 | 09:17 น.
732

นักวิชาการ TDRI ค้านลดภาษีสุราพื้นบ้าน 0 % เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ได้ไม่คุ้มเสีย ชี้ขัดกับหลักการที่ว่าควรจัดเก็บภาษีเอาไว้เพื่อดูแลสังคม

หลัง ครม.นัดแรกหลังหยุดปีใหม่ 2567 ไฟเขียวชุดมาตรการคลัง ส่งเสริมศูนย์กลางท่องเที่ยว ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต สุราพื้นบ้านไม่ต้องเสียภาษี ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า โดยปกติเเล้วสุราเป็นสินค้าที่ "bad" คือ เป็นสินค้าที่สงผลเสียต่อสุขภาพและสังคม  หมายความว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจึงเป็นไปเพื่อลดแรงจูงใจในการบริโภค และนำเอารายได้มาดูแลเรื่องปัญหาสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การรณรงค์เมาไม่ขับ หรือ การเอามาใช้เป็นงบรักษาผู้ป่วยที่เป็นผลมาจากการบริโภคสุราเป็นเวลานาน 

"ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลดภาษี เพราะว่าขัดกับหลักการที่ว่าควรจัดเก็บภาษีเอาไว้เพื่อดูแลสังคมดังกล่าว" 

กับคำถามที่ว่าเหตุผลของการปรับลดภาษีสุราพื้นบ้านเหลือ 0 % เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ จะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น   ดร.นณริ ระบุว่า ผลโดยตรง คือทางด้านราคา คือ ภาษีลด ราคาถูกลง อาจจะมีการซื้อมาบริโภคมากขึ้น แต่ผลทางอ้อม คือ นักท่องเที่ยวจะมามากหรือน้อย คงไม่เกี่ยวกับการลดภาษี

"ผลที่เกิดแค่ทางตรงไม่น่าจะมากนัก เพราะสินค้าประเภทสุราเป็นสินค้าที่ต้องศึกษาถึงผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพว่ามีมากน้อยเพียงใด และควรจะต้องจัดเก็บภาษีเท่าใดถึงจะเหมาะสม ถ้าเก็บน้อยไปก็จะส่งผลเสียต่อสังคมในภาพรวม ดังนั้น การจะกระตุ้นภาคท่องเที่่ยว มองว่าควรจะต้องเสริมในเรื่องของคุณภาพการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง แต่ต้องมีความหลากหลาย และดึงผลประโยชน์ให้คนในชุมชนได้รับมากที่สุด"

นักวิชาการ TDRI ยกตัวอย่างให้เห็นภาพการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเป็นอย่างไร โดยยกไอเดียการจัด Event ต่างๆ ที่มีชื่อเสียง ในเดือนต่างๆ ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และโปรโมทให้เป็นงานถาวรทุกปี เช่น Christmas Market ของยุโรป แต่ต้องมีความหลากหลาย และดึงผลประโยชน์ให้คนในชุมชนได้รับมากที่สุด

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก โดยระบุว่า ทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ด้านพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 2565 พบว่าแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักดื่มปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบนักดื่มหน้าใหม่ของไทย ช่วงอายุ 15-19 ปี มากถึง 30.8% ช่วงอายุ 20-24 ปี 53.3%  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดื่มเพิ่มมากขึ้นคือ การโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้สื่อบุคคล “Influencer” หลากหลายช่องทาง รวมถึงการแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี ซีรีย์ต่างๆ เพื่อโปรโมตกิจกรรมส่งเสริมการดื่มของธุรกิจแอลกอฮอล์ ที่ควบคุมป้องกันได้ยาก กลายเป็นแบบอย่างค่านิยมผิดๆ ให้เด็กและเยาวชน 

ส่วนนักดื่มในปี 2564 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเพิ่มขึ้นจากในปี 2560 เกือบ 2 เท่าและแนวโน้มของการซื้อมาดื่มที่บ้านสูงมากขึ้นในช่วงรอบการสำรวจปี 2560 และ 2564 ผู้ดื่มหนักเป็นประจำ มีค่าใช้จ่ายการดื่มสุราเฉลี่ยสูงถึง 3,722บาท/เดือน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย340 บาท/วัน