นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีนี้ กรมกำลังผลักดันการกำหนดพิกัดบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปอยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้าไปปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย มักจะพบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในนั้นด้วย แต่ที่ผ่านมากรมไม่มีอำนาจไปลงโทษผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่อยู่ในพิกัด และหากเพิ่มเข้ามาในพิกัดแล้วก็สามารถดำเนินการได้ทันที
“กรมยืนยันว่าการเพิ่มพิกัดนี้ ไม่ได้เป็นการเก็บภาษีเพื่อหวังผลรายได้ หรือทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการปราบปรามและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเท่านั้น”
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต กำลังพิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงใหม่ โดยจะใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียว หรือเดินตามมาตรฐานโลก คือเก็บตามปริมาณอย่างเดียว โดยปัจจุบัน โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ มีโครงสร้างภาษีเป็นสองอัตรา หากราคาบุหรี่ขายปลีกในท้องตลาดมีราคาซองละไม่เกิน 72 บาท จะถูกจัดเก็บในอัตราภาษีที่ต่ำเพียง 25% ของราคาขายปลีก เพื่อลดผลกระทบของผู้มีรายได้น้อยที่ยังจำเป็นต้องบริโภคยาสูบ
อย่างไรก็ตาม หากราคาขายปลีก เกินกว่า 72 บาทต่อซอง อัตราภาษีจะพุ่งพรวดไปอยู่ที่42 % และนอกจากจะเสียภาษีในอัตราดังกล่าวแล้ว บุหรี่ทุกซองไม่ว่าจะราคาใด จะต้องเสียภาษีตามปริมาณ โดยคิดในอัตรา 1.25 บาทต่อม้วน ซึ่งคิดเป็นภาษีตก 25 บาทต่อซอง
สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่เป็นสองอัตราดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตบุหรี่ปรับตัว หลบอัตราภาษีที่สูง โดยหันมาขายบุหรี่ราคาต่ำ ไม่เกินซองละ 72 บาท เพื่อให้เสียภาษีถูกลงจากอัตราภาษีที่ 25 % แทนที่จะเป็น 42 %
แต่หากจะกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ เป็นอัตราเดียว จะต้องหาจุดที่สมดุล เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยมากจนเกินไป และไม่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการลักลอบนำบุหรี่เถื่อนเข้ามาขายในประเทศ
“ความแตกต่างระหว่างราคาบุหรี่ถูกกฎหมายกับบุหรี่เถื่อน มีช่องว่างที่ถ่างกันมาก ซึ่งในความเห็นของตนนั้น ภาษีอัตราเดียว น่าจะเป็นอัตราที่อยู่ตรงกลาง ระหว่าง25 % กับ 42 % แต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องไปศึกษาผลกระทบกรณีที่ใช้อัตราเดียว“
ทั้งนี้ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ก่อนปี 64 มีโครงสร้างภาษี2อัตรา โดยหากราคาบุหรี่ต่อซอง ไม่เกิน 60 บาท จะเสียในอัตรา 20 % และที่ขายเกินกว่า 60 บาท/ซอง เสียในอัตรา 40 % และกำหนดว่า ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2021 เป็นต้นไป จะต้องกลับมาใช้โครงสร้างภาษีในอัตราเดียว ที่ 40 % ของราคาขายปลีก แต่ก่อนที่จะถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2021 ครม.ได้มีมติแก้ไข โดยให้ยังคงใช้โครงสร้างสองอัตรา ต่อไป ที่ 25% และ 42 % ดังกล่าว
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตพิจารณาศึกษาทบทวนโครงสร้างและอัตราภาษียาสูบทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อนำไปสู่ โครงสร้างแบบอัตราเดียวในอนาคตที่เหมาะสม เป็นธรรม และคำนึงถึงการแข่งขันในตลาดรวมทั้งการดูแล สุขภาพของประชาชน
พร้อมทั้ง มอบหมายให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล เกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบเปลี่ยนมา ปลูกพืชทดแทนและให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สร้างองค์ความรู้หรือ สนับสนุนทางวิชาการให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชทดแทนเพื่อลดพื้นที่การเพาะปลูกยาสูบอีกด้วย