"ปณิธาน" ผ่าทางออกเจรจา "พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา”แบบ WIN-WIN

15 ม.ค. 2567 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2567 | 19:42 น.
1.4 k

สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร” ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ทางออกดัน “พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา” โอกาสทองชาติอาเซียนร่วมมือ แนะยกโมเดล JDA ไทย-มาเลเซีย ต้นแบบสู่ความสำเร็จแบบ WIN-WIN

KEY

POINTS

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ มองการผลักดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA) มูลค่าหลายล้านล้านบาท ณ ปัจจุบัน น่าจะลงตัวมากขึ้น หากหยิบยกเฉพาะเรื่องการนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ของประเทศ
  • รัฐบาลอาจหยิบยก หรือนำแนวทางของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) มาเป็นต้นแบบการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) ได้ 
  • จุดสำคัญที่จะทำให้การเจรจาประสบผลสำเร็จและประเทศไทยได้ผลประโยชน์มากที่สุด คือ ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่แตะเรื่องการปักปันเขตแดน และต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพราะอนาคตต้องร่วมมือกันอีกหลายเรื่อง
     

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับประเด็น การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA) ซึ่งมีมูลค่านับล้านล้านบาทว่า เรื่องนี้เป็นความจำเป็นของทุกรัฐบาล และเป็นความยากลำบากของแต่ละรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะในการผลักดันการเจรจา ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งเงื่อนไขและสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ รวมไปถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้มองว่า การผลักดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน-ไทยกัมพูชานั้น มีเงื่อนไขในอดีตบางอย่างไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ โดยเฉพาะเรื่องของดินแดน แต่บางเรื่องก็มีความพยายามหาแนวทางใหม่ เช่น การพัฒนาพื้นที่ร่วม ซึ่งเรื่องนี้ทุกรัฐบาลก็พยายามทำ แต่บางรัฐบาลก็มีความสัมพันธ์ไม่ดีนัก หรือมีปัจจัยแทรกซ้อน เช่น กรณีข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร จึงกระทบกับการเจรจาทางทะเล รวมไปถึงการเปลี่ยนผู้นำก็อาจทำให้เกิดความร่วมมือใหม่ ๆ ซึ่งตอนนี้มองว่าในการเจรจาเรื่องนี้ก็น่าจะลงตัวมากขึ้น

“ตอนนี้ยังถือเป็นยกแรก ๆ เพราะผลประโยชน์ของชาติไม่เข้าใครออกใคร เพราะตามตำรารัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีผู้แพ้-ผู้ชนะ ผู้ได้เปรียบ-เสียเปรียบ บางทีก็ให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสิน บางกรณีก็เข้าสู่สงคราม หรือบางกรณีก็ถูกแช่เย็นเอาไว้ บางประเทศเรื่องของพรมแดนเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่ในกรณีของไทยเองยังดีกว่า และตอนนี้ถือว่ามีความจำเป็นหากนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ของประเทศ” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

 

ภาพประกอบข่าว การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA)

แนะใช้โมเดล JDA ไทย-มาเลเซีย

รศ.ดร.ปณิธาน ยังขยายความต่อว่า ปัจจุบันแหล่งพลังงานของไทยเริ่มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ และเชื่อว่า แหล่งผลิตปิโตรเลียมทางด้านบนจากแหล่งเอราวัณนั้น จะมีโอกาสเป็นแหล่งพลังงานใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีปริมาณเท่าใด เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง 

รศ.ดร.ปณิธาน ยอมรับว่า ในแหล่งผลิตปิโตรเลียมด้านบนแหล่งเอราวัณน่าจะทำการสำรวจได้ยาก เพราะมีการลากเส้นทับกันหลายจุด แต่ในแหล่งผลิตปิโตรเลียมด้านล่างใกล้แหล่งเอราวัณ น่าจะหาทางร่วมมือกันสำรวจได้ โดยอาจนำแนวทางของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) มาเป็นต้นแบบการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน-ไทยกัมพูชาได้ คือ ไม่ได้ตกลงดินแดนเป็นของใคร แต่มาแบ่งปันผลประโยชน์กันตามสัดส่วนที่เหมาะสมตามกรอบการเจรจา

สำหรับแหล่งผลิตปิโตรเลียมด้านบนของแหล่งเอราวัณ รศ.ดร.ปณิธาน ยอมรับว่า เท่าที่ดูแล้ว น่าจะตกลงกันค่อนข้างยาก เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องอธิปไตย ซึ่งจะต้องคุยกันให้ได้ข้อสรุป โดยขณะนี้ยังมีความเป็นห่วงถึงคนที่จะเข้าไปเจรจาพื้นที่ทับซ้อน-ไทยกัมพูชาจะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะจริง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“รมว.การต่างประเทศคนปัจจุบัน ถือว่ามีทักษะในการเจรจาทางการค้าพอสมควร และทางนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางเยือนไทย ความสัมพันธ์กำลังราบรื่น คนรุ่นใหม่ ๆ ก็อาจจะมองข้ามปัญหาเดิม ๆ แล้วก็หาทางร่วมมือกัน โดยถ้าร่วมมือทางเขตตอนล่างได้โดยไม่ต้องปักปันเขตแดน หรือตกลงเขียนสนธิสัญญาขึ้นมาให้พัฒนาพื้นที่ร่วมไปก่อนเหมือนมาเลเซีย ก็เชื่อว่าจะก้าวข้ามปัญหาไปได้ แต่ก็คงไม่ได้ทั้งหมด เพรามีบางส่วนมีสัมปทานอยู่” รศ.ดร.ปณิธาน แนะนำ

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ยังมีข่าวดีต้อนรับปีใหม่ 2567 นั่นคือ ยังมีความหวังและมีช่องทางเพิ่มขึ้น โดยอาจจะใช้บันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2544 (MOU 2544) เป็นฐานในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน-ไทยกัมพูชาบางรูปแบบ และอาจจะต้องขยายผลในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทั้งทางบกและทางทะเลให้ครบถ้วนต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว นายกฯ ดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA)

 

การเจรจาอยู่ในช่วงเวลาเหมาะสม

ส่วนแนวโน้มการเจรจา ภายใต้การนำของ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รมว.ต่างประเทศ นั้น มองว่า ก็อาจจะพูดยาก ที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นผลงานจริง ๆ ในด้านการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องของชายแดนทั้งทางบกและทางทะเล โดยทางบกนั้นมองว่ากัมพูชาได้เปรียบหลายอย่าง เพราะมีพื้นที่ใกล้ปราสาทเขาพระวิหาร และมีมติของศาลโลกคลุมอยู่ แต่ไทยก็ยังยืนยันและยังครอบคลุมพื้นที่รอบ ๆ บางส่วนอยู่

ดังนั้นถ้าการเจรจากับทางกัมพูชาจนสามารถผ่อนผันพื้นที่ได้ และเจรจาให้กับพูชาผ่อนทางทะเลได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนใต้ของแหล่งเอราวัณ แล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์กันอย่างเหมาะสม ก็อาจจะเดินหน้าเรื่องนี้จนสำเร็จได้ ส่วนพื้นที่ด้านบนซึ่งเป็นเขตแดนทางทะเลบนไหล่ทวีป การวัดและการสำรวจคงใช้เวลาอีกนาน และรอมชอมกันได้ยาก เพราะเป็นพื้นที่เขตแดนจริง ๆ อาจมีเรื่องผูกพันกันหลายเรื่อง

“พื้นที่ตอนบนระหว่างนี้ก็อาจพัฒนาร่วมกันเอาพลังงานราคาถูกให้ประชาชนได้ใช้ก่อน ตรงนี้ถือเป็นแนวทางใหม่ ซึ่งน่าสนใจว่าถ้าเดินได้จริงก็จะดี เพราะผู้นำก็มีความสนิทกัน และอดีตผู้นำก็สนิทกัน คุ้นเคยไว้ใจกัน ตรงนี้ก็เป็นฐานที่สามารถคุยกันได้มากขึ้น ขณะที่ผู้นำกัมพูชาก็เปลี่ยนเข้าสู่ระบบสากล คงคิดถึงเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

 

ภาพประกอบข่าว การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA)

สองจุดเน้นได้ประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับจุดเน้นสำคัญที่จะทำให้การเจรจาพื้นที่ทับซ้อน-ไทยกัมพูชาประสบผลสำเร็จและประเทศไทยได้ผลประโยชน์มากที่สุดนั้น ประเมินว่า จุดเน้นแรก คือผลประโยชน์ร่วมกัน คือได้กันทั้งสองฝ่าย พัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยไม่ได้ไปแตะเรื่องของการปักปันเขตแดน มีจุดประสานประโยชน์ร่วมกัน ส่วนจุดเน้นที่สอง คือต้องถ้อยถ้อยอาศัยกันกับกัมพูชาให้ดี เพราะอนาคตต้องร่วมมือกันอีกหลายเรื่อง

รศ.ดร.ปณิธาน ยอมรับว่า สิ่งสำคัญคือต้องถอดบทเรียนในอดีตในการเจรจาให้ดี แต่ละประเทศต่างต้องการผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นต่าง ๆ ผู้ที่จะเข้าไปเจรจาพื้นที่ทับซ้อน-ไทยกัมพูชาต้องมีทักษะ และความสามารถส่วนตัว โดยในอดีตไทยมีคนเหล่านี้ไม่มาก แต่ตอนนี้ก็มีหลายคนที่มีความเชี่ยวชาญมากขึ้นในเรื่องของการเจรจาระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามทิศทางต่อจากนี้อยากเสนอแนะว่า การเน้นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ณ ปัจจุบัน มีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังแปรปรวน ต่อมาคือ ในการเจรจาหากผิดจากแผนคือไม่สำเร็จก็ขอให้ใจเย็น ๆ ก่อน อย่าขืนใจใคร เพราะประเทศเพื่อนบ้านจะมีความรู้สึกมากกว่าไทย และสุดท้ายอยากให้มองไปในอนาคต เพื่อให้คนรุ่นใหม่คุยกันว่าจะผูกพันกันอย่างไรกับประเทศเพื่อนบ้าน 

นั่นเพราะโลกต่อจากนี้หนีไม่พ้นเรื่องของการเชื่อมต่อแบบไร้พรมแดน ต้องพึ่งพากัน โดยไม่มีใครอยู่ได้ตามลำพัง ดีไม่ดีในอนาคตข้างหน้าอาจต้องร่วมมือกันในหลายเรื่องที่คาดไม่ถึงก็เป็นไป เช่น การต่อรองกับชาติมหาอำนาจมากขึ้น ซึ่งถ้าร่วมมือกันดี ก็น่าจะร่วมมือกันเติบโตได้