โจทย์หินรัฐบาล หาเงินโปะ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เพิ่มปีละ 3.2 หมื่นล้าน

21 พ.ย. 2566 | 07:12 น.
1.7 k

เปิดรายงานนโยบายสวัสดิการทางสังคมของไทย พบตัวเลขการใช้จ่ายรัฐบาลในระยะปานกลาง ปี 2567 - 2570 ต้องหาเงินโปะ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เพิ่มปีละ 3.2 หมื่นล้าน หลังประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์สำคัญทางด้านเศรษฐกิจไทย โดยหยิบยกนโยบายสวัสดิการทางสังคมของไทย ซึ่งจะมีผลต่อการใช้จ่ายรัฐบาลในระยะปานกลาง เพราะเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดำเนินนโยบายสวัสดิการทางสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะ "เบี้ยยังชีพ" เพื่อดูแลกลุ่มคนต่าง ๆ แล้วพบว่า ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2566 รัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 170,087.5 ล้านบาท (คิดเป็น 1% ของ GDP)

สำหรับค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดำเนินนโยบายสวัสดิการทางสังคมกว่า 170,087.5 ล้านบาทนั้น มีแนวโน้มรายจ่ายในแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แยกเป็น

  1. การใช้จ่าย เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 84,364.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49.4%
  2. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 49,700.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 29.1%
  3. เบี้ยยังชีพผู้พิการ 19,412.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.4%
  4. เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 16,609.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.7%

 

ภาพประกอบ ค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านสวัสดิการทางสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

 

ทั้งนี้หากพิจารณาแนวโน้มภาระค่าใช้จ่ายในระยะต่อไป โดยอาศัยข้อมูลโครงสร้างประชากรของไทยตามคาดประมาณการประชากรของ สศช. พบว่า ในระยะปานกลาง (ปี 2567 - 2570) ภาครัฐจะมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 32,063.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปีฐาน (ปี 2563 - 2566) ถึง 38%

ขณะที่ค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดปรับตัวลดลง โดยเฉลี่ยปีละ 1,227.9 ล้านบาท หรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปีฐาน 7.4% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันทางการคลังจากภาระการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

 

ภาพประกอบ ค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้านสวัสดิการทางสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิด

ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคด้านการคลังในระยะต่อไปจึงควรมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal consolidation) โดยเฉพาะการเร่งรัดเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาล เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายสวัสดิการสังคมสูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดูแลสวัสดิการด้านอื่น ๆ และความคุ้มครองทางสังคมแก่ประชากรกลุ่มต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและทั่วถึงด้วย