สศช.แนะตุนกระสุน รับความเสี่ยงวิกฤตรุมซัดเศรษฐกิจไทย ปี 66-67

20 พ.ย. 2566 | 16:49 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2566 | 16:55 น.

สศช.แนะแนวทางบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 และในปี 2567 ชี้ต้องตุนกระสุน โดยเฉพาะด้านการเงินรองรับความเสี่ยงวิกฤต เตรียมรุมซัดเศรษฐกิจไทย ตลอด 2 ปีนี้

วันนี้ (20 พฤศจิกายน 2566) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 และในปี 2567 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย นั่นคือ ปี 2566 ขยายตัว 2.5% และปี 2567 ขยายตัว 2.7-3.7% หรือค่ากลาง 3.2% ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ รวม 7 เรื่องดังนี้ 

1. การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยควรให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้มีความเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป 

2. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ความสำคัญต่อมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และต้นทุนภาคเกษตร 

 

สศช.แนะตุนกระสุน รับความเสี่ยงวิกฤตรุมซัดเศรษฐกิจไทย ปี 66-67

 

3. การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าให้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย

  • การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี และการสร้างตลาดใหม่ 
  • การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก 
  • การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี 
  • การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก 
  • การป้องกันและแก้ไขปัญหากีดกันทางการค้าโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางทางภาษี 
  • การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 
  • การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตสินค้า
  • การเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและ สินค้าขั้นกลางในประเทศ 

 

สศช.แนะตุนกระสุน รับความเสี่ยงวิกฤตรุมซัดเศรษฐกิจไทย ปี 66-67

4. การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ประกอบด้วย

  • การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัว 
  • การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติ และออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2564 - 2566 ลงทุนจริง และเร่งอนุมัติโครงการที่เสนอขอรับการส่งเสริมการลงทุน 
  • การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้เริ่มประกอบกิจการได้เร็วขึ้น 
  • การแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่สำคัญต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ 
  • การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี 
  • การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 
  • การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด 

5. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย 

  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ LTR 
  • การประเมินผลมาตรการการยกเว้นการตรวจลงตรานักท่องเที่ยว 
  • การกระจายตลาดนักท่องเที่ยวให้สมดุล 
  • การส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 
  • การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 
  • การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง 

6. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ประกอบด้วย

  • การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง 
  • การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านระบบประกันภัยพืชผล 
  • การเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย 
  • การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มและผลิตภาพในการผลิต
  • การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยและวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ

7. การรักษาแรงขับเคลื่อน การขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบด้วย

  • การเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ 
  • การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 
  • การเตรียมโครงการให้ มีความพร้อมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายได้โดยเร็ว 
  • การติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ

 

สศช.แนะตุนกระสุน รับความเสี่ยงวิกฤตรุมซัดเศรษฐกิจไทย ปี 66-67