หอการค้าไทย เตรียมยื่นสมุดปกขาวถึงนายกฯ ไม่มั่นใจ GDP โตปีละ 5%

16 พ.ย. 2566 | 15:34 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2566 | 17:57 น.

ภาคเอกชนไทย ดูเหมือนจะไม่มั่นใจการทำงานรัฐบาลไทย สะท้อนจากดัชนีอุตสาหกรรมที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน ด้านสภาหอการค้าไทย เตรียมยื่นสมุดปกขาว หลังนายกฯ กลับจากการประชุม APEC ความหวังดันจีดีพีปีโตปีละ 5% ริบหรี่

ก่อนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกาคลัง จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ทำการประชุม APEC ได้มีการแถลงถึงโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท โดยแหล่งเงินมาจากการออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ได้มีมาตรการระยะสั้น ทั้งการลดราคาค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ฯลฯ

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลชุดนี้ทำงานมาเกือบ ๆ จะ 3 เดือน นอกจากดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรงสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนแล้ว ยังมีตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่ปรับตัวลดลง นั่นก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลง จาก 90.0 ในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง ปัจจัยที่ส่งผลกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ได้แก่

ปัจจัยลบ

  • เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะ หมวดสินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาขึ้น
  • การอ่อนค่าของเงินบาท
  • ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่

ปัจจัยบวก

  • อุปสงค์จากต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว
  • มาตรการ “วีซ่าฟรี” ให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน
  • มาตรการลดราคาไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐฯ

  • เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 โครงการ e-refund เดือนธันวาคม 2566
  • เร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 
  • ขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประทศไทย ระบุว่า ในวันที่ ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายนนี้ จะมีการจัดสัมมนาหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศครั้งที่ 41 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยจะมีผู้นำองค์กรภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมมากกว่า 1,500 คน

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ตอบยืนยันที่จะเข้าร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ และรับมอบสมุดปกขาว (ข้อเสนอหอการค้าทั่วประเทศประจำปี) ในวันที่ 19 พ.ย. ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญที่จะมาร่วมงานในครั้งนี้มาก โดยวันดังกล่าวทราบว่านายกรัฐมนตรีเพิ่งเดินทางกลับถึงไทยจากการเดินทางไปเข้าร่วมประชุม APEC ที่สหรัฐอเมริกา

ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว เป็นเครื่องยนต์หลักในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวได้เกินกว่า 5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การนำเสนอสมุดปกขาวในครั้งนี้ จึงเป็นความมุ่งหวังที่หอการค้าไทยและเครือข่ายทั่วประเทศ จะได้นำเสนอแนวทางใหม่ ๆ ต่อรัฐบาลเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ผ่านข้อเสนอภาคเอกชน 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย

  1. ข้อเสนอหอการค้าไทยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ผ่านแนวทาง Connect Competitive และ Sustainable
  2. ข้อเสนอยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของหอการค้าภาค 5 ภาค ที่ได้รวบรวมประเด็นเชิงพื้นที่จากหอการค้าจังหวัดและภาคเอกชนทั่วประเทศ
  3. ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน (Transform) ไปสู่การแสวงหาโอกาสและรูปแบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมัยใหม่ในอนาคต

3 เรื่องหลักที่หอการค้าฯ อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในขณะนี้

  1. เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการทำงานกับสถาบันทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยให้ธุรกิจ SME ขนาดเล็กให้สามารถดำเนินธุรกิจและจ้างงานต่อไปได้
  2. เร่งเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆให้มากและเร็วที่สุด เพื่อขยายโอกาสส่งออก รวมถึงขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เป็น Strategic Country ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม อินเดีย และรักษานักลงทุนเดิมอย่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
  3. เร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้ไทยก้าวข้ามประเทศผู้ผลิตสินค้าทั่วไป สู่ประเทศที่สามารถผลิตและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการดึงดูด Talent ต่างชาติที่มีความสามารถพิเศษเข้ามาทำงานในไทย จากปัจจุบันแรงงานไทยที่มีทักษะในระดับสูงยังมีจำนวนน้อย หากรัฐบาลสามารถอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่าพำนักระยะยาว (LTR) และมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เอื้อให้สามารถพำนักในระยะยาวได้ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง

เศรษฐกิจโตปีละ 5% ความหวังริบหรี่

ทั้งนี้ภาคเอกชนของไทย ทั้ง ส.อ.ท. และ สภาหอการค้าฯ ได้แสดงออกถึงความกังวลในการดำเนินธุรกิจ และไม่มีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ปีละ 5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ สะท้อนผ่านข้อเรียกร้องของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งไม่ได้มีความกังวลเรื่องการกระตุ้นการจับจ่าย แต่น่าจะมีความกังวลชัดเจน ในเสถียรภาพระยะยาว

ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ปีละ 5% ตามที่รัฐบาลหวังไว้นั้น การออกมาตรการแกปัญหาค่าครองชีพและการกระตุ้นการจับจ่ายระยะสั้นนั้น อาจไม่เพียงพอ โดยจีดีพีของไทยในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่า ราว 17.4 ล้านล้านบาท หากปีนี้เติบโตได้ 2.8% ตามคาดการณ์ เท่ากับว่าฐานจีดีพีไทยจะอยู่ที่ 17.887 ล้านล้านบาท

การเติบโตปีละ 5% นั่นหมายความว่า ในปี 2570 จีดีพีไทย จะมีมูลค่าสูงถึง 22.82 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นราว 5 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีปัจจัยบวกใด ที่นำพาไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ก็ไม่แปลกที่ภาคเอกชนจะแสดงความกังวลออกมา ดังนั้น คงต้องฝากความหวังไว้ที่นายกฯ ในการเดินทางไปเยือนหลายประเทศในช่วงนี้ 

หอการค้าไทย เตรียมยื่นสมุดปกขาวถึงนายกฯ ไม่มั่นใจ GDP โตปีละ 5%