เอกชน แนะวิธีการเมืองป่วน “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ออกกฎหมายสกัดการแทรกแซง

16 พ.ย. 2566 | 07:01 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2566 | 09:58 น.

เอกชน แนะทบทวนนโยบาย “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ของรัฐบาล เสนอออกกฎหมายห้ามไม่ให้ภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงกลไกค่าจ้าง หวั่นเลือกตั้งครั้งต่อไปหลายพรรคทำนโยบายขึ้นค่าจ้าง กระทบเศรษฐกิจไทย

นายธนิต โสรัตน์ ประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของรัฐบาล โดยจะต้องมีการทบทวนใหม่ โดยจะต้องผลักดันให้มีกฎหมายห้ามไม่ให้ภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงกลไกค่าจ้าง ซึ่งปัจจุบันมีคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประกอบด้วยผู้แทน นายจ้าง-ลูกจ้างและผู้แทนฝ่ายรัฐบาล คอยกำกับดูแล

“หากมีการปรับค่าจ้างวันละ 400 บาทและอาจไปถึง 600 บาท การเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจจะเห็นแต่ละพรรคการเมืองแข่งขันใช้นโยบายค่าจ้างไปถึงวันละพันบาทหรือมากกว่า แล้วประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร” นายธนิต กล่าว

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบประชานิยม นโยบายที่เกี่ยวกับการเพิ่มรายได้ให้กับ มนุษย์เงินเดือนที่เป็นนโยบายของรัฐบาลซึ่งพรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงคือการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายใน ปี 2570 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งครม.ชุดนี้คงไม่ได้อยู่เพราะหมดวาระไปสียก่อน 

 

นายธนิต โสรัตน์ ประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ทั้งนี้ในระยะสั้น มีการผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาทเป็นอัตราที่ก้าวกระโดด ช่วงหลังดูจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ และในแง่กฎหมายที่อาจเป็นการชี้นำแทรกแซงคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี ซึ่งมีกฎหมายแยกต่างหาก โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่าเป็นตัวเลขเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานไปศึกษาความเหมาะสมและศึกษาความเป็นไปได้และนำมารายงานในครม. 

“ที่ค่อนข้างชัดเจนคือ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานออกมาระบุว่าการปรับค่าจ้างเป็นหน้าที่ของกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีกฎเกณฑ์การพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ เงินเฟ้อ การขยายตัวทางเศรษฐกิจความสามารถของนายจ้างและความเป็นอยู่ของลูกจ้าง” นายธนิต ระบุ

เบื้องต้นฝ่ายนายจ้าง (บางส่วน) เห็นว่าควรจะใช้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไป 3 ปี ซึ่งมีค่าเฉลี่ยประมาณ 3% หรือประมาณวันละ 10.5 บาท ตัวเลขนี้เป็นแค่เบื้องต้น เพราะจะต้องมีการใช้ค่าจ้างของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดอัตราค่าจ้างจะแตกต่างกัน 

นายธนิต กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวการใช้ค่าเฉลี่ยเงิน เพื่อปัจจัยเดียวคงไม่พอ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยค่อนข้างต่ำ ปีที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างเฉลี่ยประมาณ 5% การปรับครั้งนี้ควรจะไม่น้อยกว่าที่ปีผ่านมา และค่าจ้างแต่ละจังหวัดต้องแตกต่างกันตามความสามารถของแต่ละพื้นที่ ไม่อย่างนั้นจะทำลายการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลจากพื้นที่เศรษฐกิจ และไม่เกี่ยวข้อง กับความเหลื่อมล้ำใด ๆ ทั้งสิ้น

 

เอกชน แนะวิธีการเมืองป่วน “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ออกกฎหมายสกัดการแทรกแซง

ทั้งนี้มองว่า นักวิชาการบางท่านรวมถึงบางพรรคการเมืองให้เหตุผลว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูง หรือค่าแรงขั้นต่ำ จะทำให้เพิ่มกำลังการซื้อและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย ทำให้มีการลงทุนเพิ่มและมีการขยายการจ้างงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการเพิ่มกำลังซื้อและการจ้างงานแบบต่อเนื่องในลักษณะ Multiplier Effect หรือส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

แนวคิดดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด เพราะเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เมื่อ 200 ปีก่อน แต่บริบทเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันพึ่งพาการค้าและการลงทุนกับต่างชาติในสัดส่วนที่สูง ภาคส่งออกมีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีถึง 54.1% โดยสัดส่วน 3 ใน 4 เป็นอุตสาหกรรมประเภทรับจ้างผลิต (OEM) หรือใช้แบรนด์ต่างชาติ 

ขณะที่ภาคการผลิตของไทยส่วนใหญ่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภาคส่วนเศรษฐกิจของไทยส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมใช้แรงงานจำนวนมาก มีความอ่อนไหวด้านราคา เนื่องจากผู้ซื้อในต่างประเทศมีทางเลือกในการซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่นที่มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าไทยมาก

ที่ผ่านมามีนักวิชาการบางท่านระบุว่า ไม่เคยเห็นธุรกิจหรือนายจ้าง “เจ๊ง” จากการปรับค่าจ้าง หรือค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งส่วนตัวก็เห็นด้วยบางส่วน หากเป็นการปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีการปรับแบบก้าวกระโดดเหมือนในอดีตสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย พบข้อมูลเชิงประจักษ์ผลที่ตามมาจนถึงปัจจุบันดังนี้

อุตสาหกรรมจำนวนมากย้ายฐานการผลิต เช่น ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและประเทศต่างๆ จนทำให้ไทย เสียแชมป์ในฐานะฐานการผลิตและส่งออกระดับโลก เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้ากีฬา, อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง, ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรไฟฟ้า 

จากอดีตไทยเคยเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนระดับภูมิภาคแต่ปัจจุบันการส่งออกและลงทุนของไทยห่างกับ เวียดนามเทียบไม่ติดและในไม่ช้าอินโดนีเซียจะแซงไทย สะท้อนจากการลงทุนทางตรง (FDI) ในช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมามีเม็ดเงินประมาณ 3.985 แสนล้านบาท หรือ 44.8% ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เกือบครึ่งเป็นการลงทุนจาก ประเทศจีนและสิงคโปร์

นอกจากนี้การทำนโยบายค่าจ้างต้องเข้าใจว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 90% เป็นรายย่อยและเอสเอ็มอี กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีต่ำ-สินค้าต้องแข่งขันด้านราคาธุรกิจและอุตสาหกรรมเหล่านี้หากค่าแรงขั้นต่ำปรับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดจะอยู่ไม่ได้ 

 

เอกชน แนะวิธีการเมืองป่วน “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ออกกฎหมายสกัดการแทรกแซง

 

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลผลักดันการปรับค่าจ้างจะต้องควบคู่ไปกับการมีแผนที่ชัดเจนในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวข้องกับผลผลิตหรือชิ้นงานก็ต้องเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า หากค่าจ้างสูงแต่ชิ้นงานทำได้เท่าเดิมส่วนต่างของต้นทุนจะไปอยู่ในตัวสินค้า หากผู้ประกอบการปรับราคาได้ภาระจะตกอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่หากปรับราคาไม่ได้ ก็ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีฐานค่าจ้างต่ำกว่าหรืออาจจะต้องทยอยปิดตัว

ประเด็นสำคัญรัฐบาลจะต้องมีแผนงานที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้สถานประกอบการ ทั้ง อุตสาหกรรมและบริการ หลุดออกจากกับดักการพึ่งพาแรงงานเข้มข้น หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่ำ ทำให้ต้องแข่งขันด้านราคาส่งผลต่อการกดค่าจ้าง ทางออกคือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน 

“รัฐบาลบอกว่าจะกู้เงินหนึ่งแสนล้านบาทเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควรนำเงินนี้มาจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการใช้ เทคโนโลยีและส่งเสริมทักษะให้กับแรงงานของชาติโดยจะต้องทำคู่ขนานกับการปรับค่าจ้างให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชากรแรงงานหลุดพ้นจากกับดักค่าจ้างขั้นต่ำ” นายธนิต กล่าวทิ้งท้าย