เงินเฟ้อไทยติดลบ สะท้อนคนไทยขาดกำลังซื้อ เข้าสู่ "ภาวะเงินฝืด"

15 พ.ย. 2566 | 09:17 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 09:17 น.
2.8 k

“พิชัย” ชี้ เงินเฟ้อไทยติดลบ แสดงถึงคนไทยขาดกำลังซื้อ เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย แนะ การกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็น

ความน่าเป็นห่วง "เงินเฟ้อไทย" ส่งสัญญาณว่าไทยกำลังเข้าสู่ "ภาวะเงินฝืด" ? นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย และ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สะท้อนถึง เงินเฟ้อไทยว่า เดือนตุลาคมติดลบที่ -0.31% เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 25 เดือน หลังจากที่เงินเฟ้อของไทยขยายตัวต่ำมา 5 เดือนติดต่อกันก่อนหน้านี้ เริ่มจากเงินเฟ้อใน พฤษภาคม 0.53% มิถุนายน 0.23% กรกฏาคม 0.35% สิงหาคม 0.88% กันยายน 0.30% ทั้งที่ช่วงเวลาดังกล่าวราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่เงินเฟ้อกลับต่ำ 

เเละยังประเมินว่า มีแนวโน้มที่เงินเฟ้อไทยจะติดลบต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมคาดกันว่าจะติดลบที่ -0.35% และ - 0.42% ตามลำดับ ในขณะที่เงินเฟ้อในโลกยังสูงมากเช่นในสหรัฐเงินเฟ้อยังสูงที่ 3.7% ยุโรปยังอยู่ที่ 4.3% เป็นต้น

 

"เงินเฟ้อต่ำ" ติดลบต่อเนื่องสัญญาณอันตราย 

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า "คนไทยขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) และอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้" เพื่ออธิบายถึงเรื่องนี้ นายพิชัย ยกตัวอย่างประเทศที่กำลังประสบปัญหาเหมือนไทยคือ "ประเทศจีน" ที่มีเงินเฟ้อติดลบเช่นกัน โดยในเดือนตุลาคมเงินเฟ้อของประเทศจีนติดลบที่ - 0.20% แต่เงินเฟ้อจีนมีการติดลบก่อนหน้านี้ด้วย สาเหตุมาจากกำลังซื้อของคนจีนลดลงจากปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่มีปริมาณล้นเกินมาก

ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของจีนแทบทุกบริษัทมีปัญหาขนาดหนัก เกิดหนี้เสียในระบบเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนจีนลดลงมาก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจีน และทำให้นักท่องเที่ยวจีนจึงมาเที่ยวไทยน้อยกว่าที่คาดกันมาก และการส่งออกของไทยไปจีนก็ลดลงเช่นกัน

 

 

 

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำ ต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรากฏ และเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์มาก ซึ่งน่าจะขยายได้ไม่ถึง 2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายได้ 3.5% และปรับลดมาเหลือ 2.7 % แต่คงจะไม่ถึง ประกอบด้วยสถานะการณ์เศรษฐกิจโลกที่สหรัฐอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก เศรษฐกิจยุโรปที่ยังทรุด เศรษฐกิจจีนที่ยังย่ำแย่

อีกทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซำ้เติมด้วยสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่มีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างขึ้น ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นกำลังซื้อของประชาชน ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นในทางเศรษฐศาสตร์จะแก้ไขได้ยากมาก ขนาดประเทศญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีที่สุดในรอบ 20 ปี ยังอัดฉีดเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเลย

"อยากให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันคิดและหาทางแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วนก่อนเศรษฐกิจไทยจะทรุดหนัก โดยใน 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยได้ปีละ 1.9% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพมาก หากเป็นเช่นนี้ประเทศไทยจะพัฒนาได้ช้ามากและจะล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆมาก ประชาชนจะยิ่งลำบากกันมากขึ้น"