บีโอไอ คลอดมาตรการใหม่หนุนค่ายรถยนต์ พาโรดโชว์ญี่ปุ่นพร้อมนายกฯ

09 พ.ย. 2566 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2566 | 17:24 น.

บีโอไอ คลอดมาตรการใหม่ หนุนค่ายรถยนต์ใช้เทคโนโลยีผลิตรถยนต์ ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม พร้อมนำไปโรดโชว์ญี่ปุ่น กับนายกรัฐมนตรี เดือนธันวาคม 2566 นี้ ดุงดูดนักลงทุนเพิ่มเติม

วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ 

โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ทั้งนี้ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว โดยต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567

 

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)

นายนฤตม์ กล่าวว่า มาตรการด้านสิทธิประโยชน์กับค่ายรถยนต์ที่ออกมาครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทางบีโอไอ จะนำไปใช้ในการดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะการไปโรดโชว์กับคณะของนายกรัฐมนตรี ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 นี้ด้วย

“จริง ๆ จะมีหลายมาตรการที่จะใช้โรดโชว์ เช่น มาตรการ EV 3.5 ซึ่งจะส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่มาตรการที่ออกมาใหม่ครั้งนี้ จะเป้นมาตรการอีกส่วนที่มาส่งเสริมกัน เพื่อให้เกิดการอัพเกรดอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม และเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ปรับปรุประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย” นายนฤตม์ ระบุ

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการส่งออก การจ้างงาน และจำนวนผู้ผลิตในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีจำนวนมากกว่า 2,300 ราย โดยปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีการผลิตรถยนต์มากถึง 1.9 ล้านคัน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก 

 

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)

ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ และสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน) มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วน 14% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 

โดยมีแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม 8 – 9 แสนคน และมีจำนวนผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานกว่า 2,300 ราย ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม แบ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์กว่า 20 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 (Tier 1) 530 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 2 (Tier 2) และลำดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 1,750 ราย