"เศรษฐา" ดัน แลนด์บริดจ์ สั่ง คมนาคม - BOI เตรียมข้อมูลบุกจีน

03 พ.ย. 2566 | 19:15 น.

"เศรษฐา" เผยผลหารือทูตจีนให้ความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์ สั่ง คมนาคม - บีโอไอ เตรียมข้อมูลพร้อมพูดคุยกับรัฐบาลจีนใน 2 สัปดาห์เพื่อดูรูปแบบการลงทุนและความร่วมมือผลักดันโครงการฯ  

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล  ว่าในวันนี้ได้มีการหารือกับทูตจีนในความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยในเรื่องของโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) ที่ตนได้หารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในระหว่างการประชุม "Belt and road summit" ซึ่งทางจีนมีความสนใจโครงการนี้มากและได้สอบถามเกี่ยวกับแนวทางการลงทุน และการเดินหน้าโครงการว่าจะทำอย่างไรต่อไปได้บ้าง

ทั้งนี้ ตนจึงได้บอกกับทางท่านทูตจีนว่า หลังจากนี้ไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังจากที่เดินทางไปประชุมเอเปคที่สหรัฐ จะมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เดินทางไปพบกับรัฐบาลจีน เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และแนวทางในการร่วมมือการลงทุนเพื่อที่จะดูว่าทั้งไทย และจีนจะร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนั้นในการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางผ่านจากประเทศไทย สปป.ลาว ไปยังจีนนั้นต้องมีการพัฒนาสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์แห่งที่ 2)  ได้หารือเพื่อเร่งสร้างให้แล้วเสร็จหลังจากที่โครงการล่าช้ากว่าแผนเดิมซึ่งจะช่วยเชื่อมการขนส่งสองประเทศมากขึ้น

ส่วนสินค้าผ่านแดน ได้แก่ การจำหน่ายโคเนื้อ ทางจีนพร้อมอำนวยความสะดวกการผ่านแดนให้ส่งสินค้าโคไทยไปจีนเร็วขึ้น โดยให้ไทยดูแลเรื่องของการตรวจโรค เช่น โรคปากเปื่อย และเท้าเปื่อย จากต้นทางให้เรียบร้อยทำให้ได้รับการสะดวกในการส่งออกมากขึ้น

นอกจากนี้ตนได้สนทนาทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับตัวแทนรัฐบาล และคณะทำงานของประเทศซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการเดินทางไปเยือนซาอุฯ อย่างเป็นทางการได้มีการพูดคุยกันว่า จะมีการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามความคืบหน้าในการทำงานทุก ๆ สองสัปดาห์ซึ่งซาอุดีอาระเบียถือเป็นตลาดที่สำคัญ ไทยได้กลับไปฟื้นฟูกับซาอุฯ อีกครั้ง และต้องมีการติดต่อกันอย่างต่อเนื่องในการหารือกับบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจในหลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ปศุสัตว์

ส่วนด้านพลังงานได้หารือกับบริษัทอย่างซาอุดี อารามโก ซึ่งถือว่า ให้ความสนใจการลงทุนในไทยเป็นอย่างมากโดยได้พูดคุยกันอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ทั้งนี้ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยสาระสำคัญหลังการหารือเพิ่มเติมว่า ในการหารือกับจีนในเรื่องการเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากไทยนั้น ฝ่ายจีนแจ้งว่า หลังการหารือจีนจะซื้อข้าวจากไทย 1 ล้านตันจนถึงขณะนี้มีการซื้อข้าวไทยแล้ว 8 แสนตัน ซึ่งจะดำเนินการให้ครบตามจำนวน

ส่วนการส่งออกโคมีชีวิต และเนื้อสัตว์จากไทยไปจีน นายกฯ แจ้งว่า ไทยจะยกระดับสินค้าไทยให้เป็นไปตามที่ฝ่ายจีนต้องการและขอให้ฝ่ายให้ฝ่ายจีนพิจารณาการนำเข้าด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ รับจะสนับสนุน โดยที่รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้หน่วยงานด้านการศุลกากรของจีนรับผิดชอบดูแลด้วยแล้ว
 
การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตั้งด่านตรวจสอบสินค้าผลไม้ ที่ท่าเรือกวนเหล่ย เอกอัครราชทูตฯ เข้าใจดีว่า เป็นช่องทางที่สินค้าของไทยส่งไปขายที่จีนได้เลยโดยไม่ต้องผ่านประเทศที่ 3 ซึ่งยินดีที่จะให้การพิจารณาสนับสนุน รวมถึงมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองประเทศ โดยเอกอัครราชทูตแจ้งว่า ฝ่ายจีนไม่ขัดข้องในเรื่องนี้ โดยทั้งสองฝ่ายหวังที่จะบรรลุข้อตกลงระหว่างกันโดยเร็วที่สุด
 
โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าการเดินทางเยือน สปป. ลาว ของนายกรัฐมนตรี (30 ตุลาคม 2566) ทำให้เห็นชัดถึงความสำคัญของการเร่งรัดการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ (หนองคาย - เวียงจันทน์) เพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่งข้ามแดนทางรางระหว่างไทย - ลาว – จีน ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เข้าใจเจตนาดีของไทย และรับที่จะประสานการทำงานเพื่อเร่งรัดโครงการต่อไป

ความตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันต่อประเด็นความตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำด้วยความร่วมมือที่ดี โดยจะร่วมกันหาทางออกต่อไป ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อการอสัญกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งเอกอัครราชทูตขอบคุณ และซาบซึ้งใจในมิตรภาพที่นายกรัฐมนตรีและประชาชนชาวไทยเสียใจต่อความสูญเสียของจีนครั้งนี้