วัดฝีมือ รัฐบาล “เศรษฐา” ดัน FTA ไทย-อียู หลังหยุดชะงัก 10 ปี

28 ต.ค. 2566 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2566 | 13:22 น.
652

วัดฝีมือรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ระดมฟื้นการเจรจา FTA ค้างท่อ โดยเฉพาะเป้าหมายแรก FTA ไทย-อียู ได้หยุดชะงักมานาน 10 ปี เช็คความพร้อม และแผนงานการดำเนินงาน พร้อมแนวนโยบายรัฐบาลทั้งหมดที่นี่

การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป หรือ FTA ไทย-อียู ได้หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถจัดการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลสำเร็จ ก่อนกลับมาฟื้นการเจรจาอีกครั้ง แต่ท้ายที่สุดก็สิ้นสุดอายุของรัฐบาลเสียก่อน

สำหรับความเป็นมาของการเจรจา FTA ไทย-อียู ได้เริ่มต้นการเจรจาครั้งแรกในช่วงประมาณปี 2556 ในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยขณะนั้นรัฐบาลได้ตั้ง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และเริ่มต้นการเจรจาไปเพียงไม่กี่ครั้ง ก่อนจะหยุดลงทันทีหลังจากเกิดการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และทิ้งเวลาไว้นานถึง 10 ปี จนถึงปี 2566 รัฐบาลผสมของพล.อ.ประยุทธ์ ได้เริ่มต้นการเจรจาอีกครั้ง

หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น และ นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส (Mr.Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ได้พบหารือกัน ณ กรุงบรัสเซลส์ ประทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 และได้ข้อสรุปร่วมกันในการเปิดการเจรจา FTA ไทย-อียู รอบใหม่โดยเร็วที่สุด

ผลการหารือครั้งดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในรายละเอียดเบื้องต้น โดยมีข้อสรุปให้แต่ละฝ่าย กลับไปดำเนินกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถประกาศเปิดการเจรจาร่วมกันภายในไตรมาสแรกของปี 2566

 

ภาพประกอบข่าว การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป หรือ FTA ไทย-อียู

ทิ้งระยะไปไม่นานนัก กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 พิจารณาเห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมเจรจา FTA กับอียู รวมทั้งมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จัดทำประกาศหรือออกแถลงการณ์เปิดการเจรจาจัดทำ FTA กับอียู

กระทั่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 ถือเป็นวันเริ่มต้นนับหนึ่งของการเปิดการเจรจา FTA ไทย-อียู อย่างเป็นทางการ  ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายวางแผนว่า จะจัดการประชุมปีละ 3 ครั้ง ตั้งเป้าหมายในเบื้องต้นที่จะหาข้อสรุปการเจรจาให้เสร็จสิ้น ภายในปี 2568 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ฝ่ายไทย ได้มอบหมายให้ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะเจรจา FTA ฝ่ายไทย โดยได้เริ่มการเจรจา FTA ไทย-อียู รอบแรก ณ กรุงบรัสเซลส์ ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2566 

สำหรับในภาพรวมการเจรจาทั้งสองฝ่ายได้หารือ แลกเปลี่ยนข้อเสนอร่างความตกลง และทำความเข้าใจข้อเสนอนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย พร้อมวางแผนการทำงานในรอบต่อไปโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจา รอบที่ 2 ในช่วงระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ที่กรุงเทพฯ

 

ภาพประกอบข่าว การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป หรือ FTA ไทย-อียู

 

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาแนวโน้มการผลักดันการเจรจา FTA ไทย-อียู ภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ภายหลังจากเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ได้ประกาศชัดเจนว่า รัฐบาลจะเร่งเดินหน้าการเจรจา FTA ให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเป้าหมายที่สำคัญ 

ขณะที่กลไกการขับเคลื่อนของรัฐบาลนั้น นอกจากการทำงานของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ไม่นานมานั้น นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังหารือกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปตะวันตกของ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก

โดยการหรือได้แลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและแนวทางยกระดับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำความตกลง FTA ไทย-อียู โดยเริ่มเจรจารอบแรก ณ กรุงบรัสเซลล์ เมื่อวันที่ 18 - 22 ก.ย. 2566 และไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจารอบต่อไปในเดือน ม.ค. 2567

“การเจรจารอบแรกเป็นไปด้วยดี และเราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนการเจรจา FTA เพื่อให้สามารถสรุปผลและบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ด้วย”

 

ภาพประกอบข่าว การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป หรือ FTA ไทย-อียู

 

นางนลินี ระบุว่า นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เน้นย้ำว่ารัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสหภาพยุโรป และยังมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว 

พร้อมสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย EU Green Deal ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัย และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050 

ส่วนไทยก็คาดหวังว่าจะมีการพูดคุยและร่วมมือเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าออกไปยังสหภาพยุโรปต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว การเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป หรือ FTA ไทย-อียู

 

อย่างไรก็ตามในความคืบหน้าของการจัดทำความตกลง FTA ไทย-อียู นั้น ปัจจุบัน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ได้ให้ความสำคัญกับการทำ FTA กับคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะกับอียู ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับต้นในการเปิดเจรจา FTA ของไทยในปีนี้ 

ปัจจุบันสหภาพยุโรป หรือ อียู ถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.9% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการค้าไทยกับโลก

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีโอกาสขยายตัวในตลาดอียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์อาหาร ไก่แปรรูป ข้าว เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก

ส่วนการเจรจาจะทำได้เสร็จตามแผนงานที่รัฐบาลวางเอาไว้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป