เปิดสถิติ ไทยใช้สิทธิ FTA ส่งออก 7 เดือน ปี 2566 พุ่ง 1.6 ล้านล้าน

23 ต.ค. 2566 | 12:52 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2566 | 12:58 น.

กระทรวงพาณิชย์ เปิดสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า FTA ของไทยช่วง 7 เดือนของปี 2566 เพื่อส่งออกสินค้าพุ่ง 1.6 ล้านล้าน เช็ครายละเอียดความตกลงใดมีการส่งออกมากที่สุด

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม – กรกฎาคม ปี 2566 มีมูลค่ารวม 46,183.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 1.66 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 74.94% ของการส่งออกทั้งหมด

ปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลงภายใต้ FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศคู่ค้า โดยการใช้สิทธิฯ จะเป็นกุญแจสำคัญที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทยให้สามารถลดหรือยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้า ณ ประเทศปลายทางได้ ซึ่งเป็นการสร้างแต้มต่อทางภาษีและกระตุ้นการสั่งซื้อได้เป็นอย่างดี 

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ แนะนำว่า ผู้ส่งออกจะต้องตระหนักรู้ถึงกฎ ระเบียบและมาตรการต่างๆ ที่เป็นไปตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อให้ได้รับสิทธิฯดังกล่าวด้วย

สำหรับสถิติการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ดังนี้

อันดับ 1 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน 

คิดเป็นมูลค่า 16,487.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 72.72% โดยเป็นการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปอินโดนีเซียสูงสุด มูลค่า 4,186.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาเลเซีย มูลค่า 4,022.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนาม มูลค่า 3,663.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ มูลค่า 2,850.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

สำหรับสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ (น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน) น้ำตาล น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส และรถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (1,500 - 2,500cc) และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) 

คิดเป็นมูลค่า 14,264.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 93.97% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง น้ำตาลอื่นๆ รวมถึงแล็กโทส มอลโทส กลูโคส และฟรักโทส ที่บริสุทธิ์ในทางเคมี ฝรั่ง มะม่วง และมังคุด เป็นต้น

อันดับ 3 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) 

คิดเป็นมูลค่า 3,758.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 71.66% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่แข็ง เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ช ลวดและเคเบิลทำด้วยทองแดง น้ำมันเบากระสอบและถุงทำด้วยโพลิเมอร์ของเอทิลีน และกุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น

อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) 

คิดเป็นมูลค่า 3,344.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 60.68% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด 2,500cc ขึ้นไป ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ปลาทูน่าปรุงแต่ง และรถยนต์ขนส่งบุคคลขนาดขนาด 1,000 - 1,500cc เป็นต้น

อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) 

คิดเป็นมูลค่า 3,085.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.44% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ลวดทองแดง สารประกอบออร์แกโน - อินออร์แกนิก เครื่องรับสำหรับวิทยุกระจายเสียง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และโพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์หรือของฮาโลเจเนเต็ดโอลีฟิน เป็นต้น 

สิทธิความตกลง RCEP

สำหรับความตกลง RCEP ในเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2566 มีการส่งออกไปยัง 10 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 810.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 54.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า 

โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP อาทิ น้ำมันหล่อลื่น เครื่องดื่มชูกำลัง ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น หัวเทียน เลนส์ ปริซึม และกระจกเงา และวัตถุเชิงทัศนศาสตร์ เป็นต้น