ขนมไทยแสนล้าน จาก "ท้าวทองกีบม้า" สู่โอกาสดัน soft power

19 ต.ค. 2566 | 14:24 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 15:07 น.
3.2 k

ส่องมูลค่าการส่งออกขนมไทย แสนล้าน จากกระแส "ท้าวทองกีบม้า" ราชินีแห่งขนมไทย ในละครพรหมลิขิต สู่โอกาสผลักดัน soft power ขนมไทย เพิ่มรายได้เข้าประเทศ

"ท้าวทองกีบม้า" หรือ มารี กีมาร์ ตัวละครหนึ่งในละครเรื่อง "พรหมลิขิต" ละครภาคต่อจาก "บุพเพสันนิวาส" ที่นางเอกในเรื่อง หรือแม่การะเกดชอบเรียกติดปากว่า "แม่มะลิ" กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคม เนื่องจากได้ออกอากาศตอนแรกเมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค.2566

บทละครที่ได้พูดถึง ท้าวทองกีบม้า โดยนางเอกกล่าวว่า "แม่มะลิ มีวิบากกรรมของนางแต่จะผ่านพ้นไปได้ในที่สุด และบั้นปลายชีวิตของแม่มะลิ หรือ ทองกีบม้า จะรุ่งโรจน์ยิ่งว่าช่วงที่นางเป็นท่านผู้หญิงของพระยาวิไชเยนทร์เสียอีก"

"ท้าวทองกีบม้า" หรือ มารี กีมาร์

ประวัติ "ท้าวทองกีบม้า"  

ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ เป็นสุภาพสตรีช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ได้การยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" จากการดัดแปลงตำรับอาหารโปรตุเกส ให้เข้ากับวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นจนออกมาเป็นขนมไทยหลากหลายเมนู เช่น ทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด ทองพลุ ทองโปร่ง ฝอยทอง กะหรี่ปั๊บ ขนมหม้อแกง สังขยา ขนมผิง สัมปันนี ขนมขิง ขนมไข่เต่า ลูกชุบ 

ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์

ในปัจจุบันทายาทขนมไทยของ "ท้าวทองกีบม้า" ยังคงมีชีวิตอยู่ และมีชื่อเดียวกันกับที่นางเอกในละครเรียก นั่นก็คือ "ป้ามะลิ" หรือนางมะลิ ภาคาพร อายุ 80 ปี พักอยู่ที่ ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากหมู่บ้านญี่ปุ่นและโปรตุเกส ประมาณ 1 กิโลเมตร 

ป้ามะลิ ถือเป็นหนึ่งในผู้สืบทอดชุมชนเครือญาติท้าวทองกีบม้า ปัจจุบันได้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขนมไทย ต้นตำรับท้าวทองกีบม้า มีสมาชิกที่เป็นเครือญาติช่วยกันทำขนมทั้งหมด 12 คน

การผลิตขนมยังยึดแบบเดิม ทองหยอดต้องหยอดด้วยมือ ที่จะสามารถกำหนดขนาดของทองหยอดได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ป้ามะลิเคยได้รับมอบปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563-2564 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา นับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการขนมไทย และเป็นปูชนียบุคคลทรงคุณค่าของชาวพระนครศรีอยุธยา

ป้ามะลิ ทายาท ท้าวทองกีบม้า

ซึ่งในปัจจุบันมักมีนักท่องเที่ยว หรือหน่วยงาน สถาบันการศึกษา แวะเวียนเข้าไปทัศนศึกษาเพื่อดูวิธีการทำขนมต้นตำรับ "ท้าวทองกีบม้า" ที่วิสาหกิจชุมชนขนมไทย ท้าวทองกีบม้าอยู่เสมอๆ และยังสามารถซื้อขนมไทยชนิดต่างๆจากที่นี่ได้อีกด้วย

ขนมไทยจาก วิสาหกิจชุมชนขนมไทย ท้าวทองกีบม้า

แม้ขนมไทย จะมีรสชาติอร่อยหอมหวาน มีเอกลักษณ์ไม่แพ้ขนมจากต่างประเทศ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ แต่ปรากฏว่ามูลค่าการส่งออกขนมไทยไปตลาดต่างประเทศยังมีมูลค่าต่ำมากn เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อาหารประเภทอื่น เช่น พวกเครื่องแกง โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณร้อยละ 6.0 ของการส่งออกทั้งหมด

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับขนมไทยไว้ว่า การจัดอันดับผู้ค้าผลิตภัณฑ์ขนมไทย OTOP จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ พบว่าขนมไทยได้รับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 3 โดยขนมไทยที่ชื่นชอบกันเป็นพิเศษ เช่น ข้าวแต๋น และทองม้วน

เปิดมูลค่า ส่งออก ขนมหวานไทย

จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ 8 เดือนของปี 2566 (ม.ค. - ส.ค. 2566) ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกน้ำตาล และขนมทำจากน้ำตาล (ชูการ์คอนเฟกชันเนอรี) ไปยังทั่วโลกอยู่ที่กว่า 123,000 ล้านบาท โดย 5 ประเทศหลัก ของการส่งออกน้ำตาลและขนมทำจากน้ำตาล (ม.ค. - ส.ค. 2566) ได้แก่

  1. อินโดนีเซีย มูลค่าการส่งออกกว่า 32,531 ล้านบาท คิดเป็น 26.39 %
  2. จีน มูลค่าการส่งออกกว่า 21,474 ล้านบาท คิดเป็น 17.42%
  3. ฟิลิปปินส์ มูลค่าการส่งออกกว่า 12,401 ล้านบาท คิดเป็น 10.06%
  4. เกาหลีใต้ มูลค่าการส่งออกกว่า 11,383 ล้านบาท คิดเป็น 9.24%
  5. มาเลเซีย มูลค่าการส่งออกกว่า 8,920 ล้านบาท คิดเป็น 7.24%

มูลค่าการส่งออกขนมไทย ม.ค. - ส.ค. 2566

จะเห็นได้ว่า "ขนมหวานไทย" มีตลาดส่งออกที่รองรับอยู่แล้ว และหากมีการส่งเสริมมากยิ่งขึ้น ขนมหวานไทย สามารถเป็นสินค้าซอฟต์พาวเวอร์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยรศ.ดร.สุขุม เคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผลักดันขนมไทยสู่สากลได้หลากหลายวิธี เช่น ควรส่งเสริม อนุรักษ์ และ สืบสานอย่างจริงจัง

ผลักดันอุตสาหกรรมขนมไทยไปยังเวทีโลก ต่อยอดสร้างสรรค์ร่วมกับวัฒนธรรมไทยอื่น ๆ ส่งเสริมเป็นสินค้าเศรษฐกิจหลักของไทย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยการทำและยืดอายุขนม บรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน จัดสอนให้ความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ ให้ทุนสนับสนุนการลงทุนต่อยอดแก่ผู้ประกอบการ และยกเว้นภาษีให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น