จ่อชง “ครม.” เคาะ จ่ายค่าโดยสารสายสีแดง-สายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย

18 ก.ย. 2566 | 15:34 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2566 | 16:43 น.

“คมนาคม” ถกรฟม.-รฟท. นำร่องรถไฟสายสีแดง-สายสีม่วง ลุยนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดได้ข้อสรุปภายในก.ย.นี้ เล็งชงครม.ไฟเขียวภายในเดือนต.ค.66 รับของขวัญปีใหม่ประชาชน ปี 67

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.),การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทรถไฟฟ้ารฟท. จำกัด และกรมการขนส่งทางราง (ขร.)  เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน การแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามสายสีแดงกับสายสีม่วง รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ  

เบื้องต้นในที่ประชุมได้มีการหารือถึงข้อกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ...,พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.),พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ 

 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้รฟท.เตรียมเสนอการแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในวันที่ 21 ก.ย.66 ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ภายในวันที่ 28 ก.ย.66 หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายในเดือนก.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือนต.ค.66 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ปี 67 
 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการแบ่งค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ มีเงื่อนไขว่า ระหว่างการเดินทาง หากประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าสายใดเป็นสายแรก ผู้เป็นเจ้าของโครงการจะเป็นผู้เก็บค่าแรกเข้าค่าโดยสาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีของผู้โดยสารที่ใช้บริการด้วย โดยจะเก็บค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย เช่น กรณีที่ประชาชนเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนเพื่อไปรถไฟสายสีแดงที่สถานีบางซื่อ จะถูกเก็บค่าแรกเข้าเพียง 16 บาท ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ที่ 4 บาท ต่ำกว่าราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าโดยสารจากการเดินทางได้ 

 

ทั้งนี้จากผลศึกษานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่าจะสูญเสีบรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนรวม 136 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 80 ล้านบาทต่อปี และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 56 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นและทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 10% คาดการณ์ว่าเมื่อดำเนินนโยบายถึง 2.8 ปี จะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายมีรายได้กลับมาเท่าเดิม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย   
 

นอกจากนี้การชดเชยรายได้ให้แก่รฟท.และรฟม.จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ นั้น พบว่า ปัจจุบันรฟท.มีหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรฟท.จะต้องขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) จำนวน 80 ล้านบาทต่อปี ขณะที่รฟม.จะนำส่วนแบ่งรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาชดเชยเงินที่ขาดหายจากนโยบายดังกล่าว จำนวน 56 ล้านบาทต่อปี