“ทางหลวง” ชงครม.ใหม่ ดัน 4 เมกะโปรเจ็กต์ 1.4 แสนล้าน รุก MR-MAP

21 ส.ค. 2566 | 13:52 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2566 | 14:03 น.
3.6 k

"ทางหลวง" ปิดดีลสรุปผลศึกษาแผนแม่บท MR-MAP วงเงินลงทุน 6.28 ล้านล้านบาท นำร่อง 4 โครงการ 1.4 แสนล้านบาท ชงครม. ใหม่ไฟเขียวภายในปีนี้ หวังพัฒนามอเตอร์เวย์รเชื่อมระบบราง

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการสรุปแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางระยะ 20 ปี (พ.ศ.2566-2585) ) ภายใต้การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway-Rail Map: MR-MAP) ทล. ได้สรุปแผนแม่บทบูรณาการ MR-MAP ในระยะยาว ระยะทาง 6,877 กม. (รวมเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 670 กม.) มีจำนวน 10 โครงข่ายทั่วประเทศ วงเงินลงทุนรวม 6.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นมอเตอร์เวย์ วงเงิน 5.12 ล้านล้านบาท และ ระบบรางวงเงิน 1.16 ล้านล้านบาท โดยจะพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับราง 3,543 กม. ช่วยลดพื้นที่เวนคืนได้ 135,000 ไร่ ลดค่าเวนคืนทั้งหมด 200,000 ล้านบาท

“ทางหลวง” ชงครม.ใหม่ ดัน 4 เมกะโปรเจ็กต์ 1.4 แสนล้าน รุก MR-MAP

  ทั้งนี้ผลการศึกษาฯจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย.66 จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบและผลักดันให้เกิดการก่อสร้างต่อไป

ส่วนภาพรวมแผนแม่บทดังกล่าวได้จัดทำแผนพัฒนา 20 ปี (ปี 66-85) เพื่อลำดับความสำคัญในด้านความพร้อม สภาพพื้นที่ และปริมาณการจราจร เพื่อจัดให้มีการดำเนินการจำนวน 23 โครงการ ระยะทาง 1,924 กม. มูลค่าลงทุน 1.63 ล้านล้านบาท ดังนี้

“ทางหลวง” ชงครม.ใหม่ ดัน 4 เมกะโปรเจ็กต์ 1.4 แสนล้าน รุก MR-MAP

 สำหรับโครงการระยะ 5 ปี (เริ่มก่อสร้างปี 66-70) จำนวน 9 โครงการ 391 กม. วงเงินลงทุน 442,979 ล้านบาท ได้แก่ 1.ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 29,014 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 68 เปิดบริการปี 71

2.บางขุนเทียน-บางบัวทอง 36 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 68 เปิดบริการปี 71 3.บางบัวทอง-บางปะอิน 34 กม. วงเงิน 34 กม. วงเงิน 15,260 ล้านบาท เริ่มสร้างปี 68 เปิดบริการปี 71 4.ทางเชื่อมต่อถนนวงแหวนฯ รอบที่ 2 ด้านตะวันตกและตะวันออก 4 กม. วงเงิน 4,090 ล้านบาท เปิดบริการปี 71

 

 5.นครปฐม-ปากท่อ 61 กม. วงเงิน 45,248 ล้านบาท สร้างปี 68 เปิดบริการปี 72 6.สงขลา-สะเดา 69 กม. วงเงิน 40,787 ล้านบาท สร้างปี 70 เปิดบริการปี 74 7.ทางพิเศษจตุโชติ-วงแหวนรอบกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) 19 กม. วงเงิน 33,400 ล้านบาท สร้างปี 69 เปิดบริการปี 72

 

 8.วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.305-ทล.34 ระยะทาง 52 กม. วงเงิน 88,809 ล้านบาท สร้างปี 70 เปิดบริการปี 74 และ 9.ชุมพร-ระนอง 94 กม. วงเงิน 103,336 ล้านบาท สร้างปี 70 เปิดบริการปี 73

 

นายปิยพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้ง 9 โครงการนี้ ทล. มีแผนนำร่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณา 4 โครงการ วงเงิน 145,647 ล้านบาท เร่งด่วนก่อน ประกอบด้วย 1.ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) โดยใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Gross Cost)

“ทางหลวง” ชงครม.ใหม่ ดัน 4 เมกะโปรเจ็กต์ 1.4 แสนล้าน รุก MR-MAP

2.M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ปัจจุบัน 2 โครงการอยู่ระหว่างรอตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบได้ภายในปีนี้ และเริ่มดำเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ภายในกลางปี 67-ไตรมาส 4 ของปี 67 คาดลงนามสัญญาพร้อมดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปลายปี 68 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการภายในปี 71

 

3.M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน เบื้องต้น ทล. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และครม.พิจารณาเห็นชอบขอใช้แหล่งเงินกู้เพื่อก่อสร้างงานโยธา เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างในเขตทาง ทำให้โครงการฯนี้ไม่ต้องเปิดประมูลในรูปแบบ PPP ส่วนงานติดตั้งระบบ O&M ใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ปัจจุบันมีเงินอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาท มีรายได้ 10-23 ล้าท/วัน คาดเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 68 เปิดให้บริการภายในปี 71

 

4.มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ปากท่อ อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดโครงการ เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมและ ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยโครงการนี้กรมจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง ทั้งนี้ในปีที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างช่วงนครปฐม-ปากท่อ กรมจะใช้งบจากกองทุนมอเตอร์เวย์หากยังมีสภาพคล่องเพียงพอ ส่วนงานติดตั้งระบบ O&M จะใช้รูปแบบ PPP ตามแผนโครงการเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 68 เปิดให้บริการปี 72