ชาวสวนยางพาราเคว้ง คลังเมินรื้อเกณฑ์รีดภาษีที่ดิน

16 ส.ค. 2566 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 17:57 น.
648

ชาวสวนยางพาราเคว้ง กระทรวงการคลัง เมินทบทวนหลักเกณฑ์ ที่กำหนดให้พื้นที่ที่ปลูกยางพาราต่ำกว่า 80 ต้นต่อไร่ต้องเสียภาษีที่ดิน โยนกระทรวงเกษตรฯ มหาดไทย พิจารณา

ความคืบหน้ากรณี สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือ เรื่อง ขอให้พิจารณาการปรับอัตราขั้นตํ่าของการประกอบการเกษตรพืชยางพารา ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรรม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 เพื่อขอทบทวนการคิดอัตราการจ่ายภาษีที่ดินขั้นตํ่า ในส่วนของการปลูกยาง จากอัตราขั้นตํ่า 80 ต้นต่อไร่ เป็น 25 ต้นต่อไร่

สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เห็นว่า ระยะปลูกยางพาราที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 3 คูณ 7 เมตร หรือประมาณ 76 ต้นต่อไร่ ซึ่งเป็นระยะปลูกที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด เพื่อให้ต้นยางพารามีพื้นที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต ขณะที่การปลูกยางพาราโดยเฉลี่ยของเกษตรกรจะอยู่ที่ 65 ต้นต่อไร่ และจนถึงระยะเวลาที่ได้ผลผลิต 7 ปี จะมีต้นยางตายเหลือเพียง 50 ต้นต่อไร่

การกำหนดให้การปลูกยางพาราขั้นต่ำ 80 ต้นต่อไร่ ขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ได้กำหนดคำจำกัดความคำว่า "สวนยางพารา" โดยเฉลี่ยต้องปลูกยางไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้นเท่านั้น

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบประเด็นดังกล่าวไปยังกระทรวงการคลัง ได้รับคำชี้แจงว่า เรื่องภาษีที่ดินเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การปลูกยางพารา เป็นไปตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรตอบกลับมา จึงไม่ขอให้ความเห็น เนื่องจากกระทรวงการคลังทำงานร่วมกันกับ กระทรวงมหาดไทย จึงตอบในนามกระทรวงการคลังไม่ได้ 

กระทรวงการคลัง ตรวจสอบประกาศการเก็บภาษีที่ดินกรณีสวนยางพาราแล้ว พบว่า เป็นประกาศที่ชาวสวนยางพารารับทราบตั้งแต่ต้น เรายึดตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนการจะทบทวนหลักเกณฑ์หรือไม่เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีกำหนดเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.15% ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

  • ที่ดินมูลค่า 0-75 ล้านบาท อัตรา 0.01% หรือล้านละ 100 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 100-500 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 500-1,000 ล้านบาท อัตรา 0.07% หรือล้านละ 700 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท

กรณีทำเกษตรกรรมไม่เต็มพื้นที่จะเสียภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์