สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ โอกาสไทยเร่งเจรจาFTA เกาะห่วงโซ่อุปทานโลก

20 ก.ค. 2566 | 14:51 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2566 | 14:58 น.

สนค. เผยการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ และจีน พบไทยมีทั้งโอกาสและความท้าทาย เอกชนแนะวิเคราะห์ตลาดเชิงลึก พัฒนาคน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เร่งเจรจา FTA เกาะเกี่ยวห่วงโซ่อุปทานโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า  สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เกิดขึ้นและดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเกิดจากการที่ทั้งสองประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของตัวเอง ไม่ให้พึ่งพาการเป็นแหล่งผลิตหรือตลาดของอีกฝ่ายมากเกินไป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

โดยสหรัฐฯ และจีน มีความสำคัญกับไทยทั้งในแง่ของการเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย โดยในปี 2565 สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยและเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย ขณะที่จีนเป็นทั้งแหล่งนำเข้าและคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ซึ่งไทยได้ยึดโยงเข้ากับห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ

ดังนั้น การดำเนินนโยบาย มาตรการ และกฎหมายต่าง ๆ ในด้านการค้าการลงทุน การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม หรือด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของสองประเทศนี้ จะส่งผลกระทบต่อไทยด้วยเช่นกัน จากในปัจจุบันที่เราได้เห็นว่าเกิดการเคลื่อนย้ายทางด้านการค้าและการลงทุนบ้างแล้ว และมีแนวโน้มว่ากระแสการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ โอกาสไทยเร่งเจรจาFTA เกาะห่วงโซ่อุปทานโลก

ทั้งนี้ผลการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ กับจีน พบว่า ไทยมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ไม่ว่าเป็นสหรัฐฯ และจีน มีส่วนแบ่งตลาดในแต่ละฝ่ายลดลง โดยส่วนแบ่งตลาดของจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐฯ ในตลาดจีนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนั้นทั้งสหรัฐฯ และจีนหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ทดแทน โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากแคนาดา อินเดีย ไต้หวัน ไทย เกาหลีใต้ และเวียดนามเพิ่มขึ้น ในขณะที่จีนหันไปนำเข้าสินค้าจากกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ โอกาสไทยเร่งเจรจาFTA เกาะห่วงโซ่อุปทานโลก

นอกจากนี้ไทยเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์ในตลาดสหรัฐฯ มากเป็นอันดับสองในอาเซียน รองจากเวียดนาม โดยส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก1.3 % เป็น1.8% ระหว่างปี 2561-2565 ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดจีนไม่เปลี่ยนแปลงมากนักที่2.1% ในช่วงเวลาเดียวกัน  และสินค้าไทยที่สามารถเข้าตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ กล้องบันทึกภาพ ตู้เย็น และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (Photosensitive semiconductor) และวงจรอิเล็กทรอนิกส์อื่น (เช่น image sensor, temperature sensor) และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น Aftermarket (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น REM) รถแทรกเตอร์ และรถจักรยานยนต์ ขณะที่สินค้าไทยที่สามารถเข้าตลาดจีน ได้มากขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ โอกาสไทยเร่งเจรจาFTA เกาะห่วงโซ่อุปทานโลก

“ไทยได้อานิสงส์ในส่วนของการย้ายฐานการผลิตของทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากความต้องการบรรเทาผลกระทบจากการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ มีเม็ดลงทุนในส่วนของชิ้นส่วนรถยนต์และยางรถยนต์จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปี 2561-2562”

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ โอกาสไทยเร่งเจรจาFTA เกาะห่วงโซ่อุปทานโลก

นอกจากนี้ ควรสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของไทยให้มากขึ้นในภาวะ Decoupling ระหว่างสหรัฐฯ และจีน แนะว่าในตลาดจีน ควรเพิ่ม Value Added ของสินค้าให้มากขึ้นแทนที่จะแข่งขันเรื่องต้นทุน ในตลาดสหรัฐฯ ควรเน้นที่สินค้าและบริการด้านนวัตกรรม อีกทั้งในภาพรวมไทยควรลงทุนในเรื่องของ Logistic Infrastructure เพื่อประหยัดต้นทุนด้านการขนส่งและเพิ่มโอกาสทางการค้าของไทยให้มากขึ้น การวาง Position ของไทยควร Balance กับทั้งด้านสหรัฐฯ และจีนอย่างที่เคยทำมา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านแรงงาน เพื่อให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตมุ่งพัฒนาการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมพลังงานสะอาด ยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน