อึ้ง คนไทยยังจน8%กระจุกภาคเกษตร สนค.จับมือเอกชนหาทางออกลดเหลื่อมล้ำ

23 มิ.ย. 2566 | 12:43 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2566 | 14:36 น.

คนไทยยังจน8%กระจุกภาคเกษตร ชี้การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมสูงอายุ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยท้าทาย สนค. จับมือเอกชนหาทางออกลดเหลื่อมล้ำ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พบว่า ความเหลื่อมล้ำ ยังคงเป็นประเด็นท้าทายของประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ปรับเพิ่มจาก 7.7 ล้านล้านบาท ในปี 2551 เป็น 10.2 ล้านล้านบาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

ในปี 2563แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ และเป็นปัญหาสั่งสมที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ อันเป็นความพยายามร่วมกันในการลดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ

 

 

อึ้ง คนไทยยังจน8%กระจุกภาคเกษตร สนค.จับมือเอกชนหาทางออกลดเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ หากพิจารณาสถานะความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนของคนจนลดลงจากร้อยละ 65 ในปี 2531 เหลือเพียง 6.3% ในปี 2564 แต่หากมองเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(ปี 2554-2564) พบว่าสัดส่วนคนจนมิได้ลดลงมากนัก แต่กลับคงตัวอยู่ที่ระดับ6-8%

อึ้ง คนไทยยังจน8%กระจุกภาคเกษตร สนค.จับมือเอกชนหาทางออกลดเหลื่อมล้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตร ซึ่งครัวเรือนที่มีรายได้หลักจากเกษตรกรรมจำนวนกว่า11% ยังอยู่ใต้เส้นความยากจนและหากเปรียบเทียบระหว่างประเทศในกลุ่มทวีปเอเชียด้วยกัน ความเหลื่อมล้ำที่วัดด้วยค่าสัมประสิทธิ์จีนีของไทย ซึ่งเป็นการวัดค่าความแตกต่างของรายได้ครัวเรือน อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

อึ้ง คนไทยยังจน8%กระจุกภาคเกษตร สนค.จับมือเอกชนหาทางออกลดเหลื่อมล้ำ

โดยสนค.ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของประเทศ พบว่ามีทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม การใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน และการพัฒนาประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data)อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถ เป็นได้ทั้งโอกาสสำหรับผู้ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในขณะเดียวกันเป็นประเด็นท้าทายสำหรับกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี และไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ปี 2562–2593 ทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทย สัดส่วนผู้สูงวัยเฉลี่ยต่อประชากรทั้งประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวเท่ากับร้อยละ 17.2 เป็นอันดับที่ 5 ของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้รองจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเก๊า ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้สูงวัยจำนวน 13.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 31.3 ของประชากรทั้งประเทศ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุยังหมายถึงสัดส่วนกำลังแรงงานเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุและเด็กจะลดลงซึ่งจะทำให้อัตราการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานเพิ่มสูงขึ้น

อึ้ง คนไทยยังจน8%กระจุกภาคเกษตร สนค.จับมือเอกชนหาทางออกลดเหลื่อมล้ำ

ขณะเดียวกัน การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันไทยยังอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถเติบโตได้ดีนับตั้งแต่เกิดการหดตัวในช่วงการระบาด กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนาน เช่น ผู้ค้ารายย่อยที่สูญเสียรายได้จากการปิดกิจการช่วงโควิด-19 กลุ่มที่ประกอบอาชีพรับจ้าง กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ภาครัฐควรมีนโยบายช่วยเหลือให้กลุ่มดังกล่าวฟื้นตัวโดยเร็ว เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว

สำหรับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่แม้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง บ่อยครั้งขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีแนวโน้มจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนกลุ่มยากจนและด้อยโอกาสจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตร

จากประเด็นความท้าทายข้างต้น หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าว โดยสนค. เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปี 2566 ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศ และเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน