ผ่านแล้ว! EIA รถไฟทางคู่ สุราษฎร์-หาดใหญ่-สงขลา 5.7 หมื่นล้าน

19 มิ.ย. 2566 | 11:57 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 12:05 น.
3.8 k

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไฟเขียวรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ - สงขลา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 5.7 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (19 มิถุนายน 2566) ที่ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ - สงขลา ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา อยู่ภายใต้โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะ ที่ 2 ของกระทรวงคมนาคม มีระยะทาง 321 กิโลเมตร กรอบวงเงิน 57,375 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ อ.แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และยังให้ความเห็นชอบ การปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงไฟฟ้า เพื่อควบคุมและแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ทั้งนี้ที่ประชุมยังรับทราบเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย รายงานสถานการณ์มลพิษในปี 2565 สรุปคุณภาพน้ำ ทั้งแหล่งผิวดิน น้ำทะเลชายและน้ำบาดาล โดยรวมอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี คุณภาพอากาศและเสียงมีแนวโน้มดีขึ้นขยะมูลฝอยชุมชนของเสียและสารอันตรายพบว่าขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นมีการขัดแยกและกำจัดขยะถูกต้องเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันของเสียอันตรายและวัตถุอันตรายมีปริมาณเพิ่มขึ้นกากอุตสาหกรรมที่มีอันตรายมีการแจ้งและนำเข้าสู่ระบบการจัดการเพิ่มขึ้นมูลฝอยติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้นและได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้น 

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ทั้งนี้รองนายกฯ ยังได้กำชับไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงปัญหาสถานการณ์มลพิษ ทั้งคุณภาพน้ำ อากาศและเสียง รวมทั้งขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียและวัตถุอันตราย บางพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม จำเป็นต้องให้น้ำหนักเข้าไปแก้ปัญหาให้ทั่วถึง สำหรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการทำการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การปล่อยปริมาณน้ำเสียลงผิวดินเพิ่ม

ประกอบกับระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนที่ไม่เพียงพอและไม่สามารถรองรับ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องประสานการทำงานร่วมกันมากขึ้น โดยขอให้มีแผนงาน มาตรการรองรับและมีการกำกับที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ขอให้กระทรวงทรัพยากรฯ นำผลการประชุมดังกล่าว เสนอ ที่ประชุมครม.ให้ความเห็นชอบ และดูแลกำกับโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนด