“รถไฟฟ้าสายสีชมพู” คู่แฝด สายสีเหลือง เปิดเมื่อไหร่ มีกี่สถานี

05 มิ.ย. 2566 | 15:11 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2566 | 16:18 น.
11.5 k

เช็คข้อมูล “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ช่วงแคราย – มีนบุรี คู่แฝด รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ปัจจุบันมีความคืบหน้าแค่ไหน เปิดเมื่อไหร่ รายละเอียดโครงการเป็นอย่างไร ทั้ง จำนวนสถานี การเดินรถ เส้นทาง แผนที่ รวมไว้ที่นี่ครบ

ภายหลัง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าระบบโมโนเรลไร้คนขับสายแรกของไทย ได้ฤกษ์เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 30 วัน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน นี้ ซึ่งมีผู้เข้าไปทดลองใช้กันอย่างคึกคัก แต่อย่างไรก็ดียังมีรถไฟฟ้าอีกสายที่เป็นเสมือนคู่แฝด นั่นคือ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ซึ่งหลายคนก็รอลุ้นว่าเมื่อไหร่ถึงจะได้เปิดใช้บริการ

ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีชมพู

เมื่อไม่นานมานี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมาระบุว่า ข้อมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 สรุปได้ดังนี้

1. สายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 30.50 กิโลเมตร ความก้าวหน้าการก่อสร้างรวมคืบหน้าแล้ว 96.43% โดยงานความก้าวหน้างานโยธา คืบหน้า 96.19% และ ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า คืบหน้า 96.64%

2. สายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. ความคืบหน้าโครงการโดยรวม 20.41%

 

ภาพประกอบข่าว รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดเมื่อไหร่

ก่อนหน้านี้ นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ แจ้งว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาใกล้แล้ว

โดยผู้รับสัมปทานได้แจ้งแผนการเปิดให้บริการ คาดว่า จะสามารถเริ่มทดลองการเดินรถได้ในเดือนมกราคม 2567 และมีกำหนดการเปิดให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางภายในเดือนมิถุนายน 2567

ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ได้เริ่มคืนผิวจราจรตามแนวเส้นทางโครงการฯ แล้ว ประกอบด้วย ถนนรามอินทรา ผู้รับจ้างได้ดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงสภาพพื้นผิวถนนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน มีความก้าวหน้าคิดเป็น 21.26%

ยกเว้นบริเวณแนวสายทางระหว่างสถานีมัยลาภ และสถานีวัชรพล ที่ยังอยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินการคืนผิวจราจร สำหรับถนนแจ้งวัฒนะ ผู้รับจ้างได้ดำเนินการคืนผิวจราจร คิดเป็น 16.62% ถนนติวานนท์ คิดเป็น 12.24% และถนนสีหบุรานุกิจ คิดเป็น 28.57% 

 

ภาพประกอบข่าว รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี

รู้จักรถไฟฟ้าสายสีชมพู

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) สายแรกของประเทศไทย ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี ซึ่งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจะผ่านที่พักอาศัย สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และศูนย์การค้าหลายแห่ง

เมื่อสร้างแล้วเสร็จโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะช่วยรองรับการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยบรรเทาปัญหาด้านการจราจรและลดปัญหาด้านมลพิษในเขตเมือง ช่วยกระจายความเจริญจากในเมืองไปสู่ชานเมือง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ให้ต่อเนื่องกันเป็นระบบและครบวงจร

โดยมูลค่าโครงการนั้น ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ให้ รฟม. ดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีชมพูในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งบริหารเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ วงเงินลงทุน 53,490 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนรวมเป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน (ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาเดินรถ 30 ปี)

 

ภาพประกอบข่าว รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี

 

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณด้านหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์และวิ่งตามถนนติวานนท์ผ่านหน้าสถาบันโรคทรวงอกแยกสนามบินน้ำและวัดชลประทานรังสฤษดิ์  จนถึงบริเวณ 5 แยกปากเกร็ด 

จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะผ่านศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ผ่านศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ผ่านแยกหลักสี่ โดยลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) ข้ามแยกหลักสี่และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 

จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งตามถนนรามอินทราและยกระดับข้ามทางด่วนพิเศษฉลองรัชที่บริเวณแยกวัชรพลแล้ววิ่งไปจนถึงแยกมีนบุรี จากนั้นวิ่งเข้าเมืองมีนบุรีตามถนนสีหบุรานุกิจ ข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบผ่านพื้นที่ว่างและเข้าสู่ถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3) โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกร่มเกล้าบริเวณซอยรามคำแหง 192 รวมมีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานีและศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง

การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่สามารถเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างโครงการ 4 จุด ดังนี้

  • จุดที่ 1 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง)  ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
  • จุดที่ 2 สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
  • จุดที่ 3 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
  • จุดที่ 4 สถานีมีนบุรี สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี

สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานี ดังนี้

  1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
  2. สถานีแคราย
  3. สถานีสนามบินน้ำ
  4. สถานีสามัคคี
  5. สถานีกรมชลประทาน
  6. ถานีแยกปากเกร็ด
  7. สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด
  8. สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28
  9. สถานีศรีรัช
  10. สถานีเมืองทองธานี
  11. สถานีแจ้งวัฒนะ 14
  12. สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ
  13. สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ
  14. สถานีหลักสี่
  15. สถานีราชภัฏพระนคร
  16. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
  17. สถานีรามอินทรา 3
  18. สถานีลาดปลาเค้า
  19. สถานีรามอินทรา กม.4
  20. สถานีมัยลาภ
  21. สถานีวัชรพล
  22. สถานีรามอินทรา กม.6
  23. สถานีคู้บอน
  24. สถานีรามอินทรา กม.9
  25. สถานีวงแหวนรามอินทรา
  26. สถานีนพรัตน์
  27. สถานีบางชัน
  28. สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
  29. สถานีตลาดมีนบุรี
  30. สถานีมีนบุรี

 

สถานีรับส่งผู้โดยสาร ทั้ง 30 สถานี ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี