เทรน์คนรักสุขภาพมาแรง ดันเศรษฐกิจสุขภาพไทยโอกาสโตสูง

05 พ.ค. 2566 | 01:00 น.
1.3 k

สนค. เผยผลศึกษาศักยภาพและโอกาสของเศรษฐกิจสุขภาพของไทย พบมีโอกาสเติบโตสูงมาก หลังทั่วโลกตื่นตัวเรื่องสุขภาพและการดูแลตนเอง ชี้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีศักยภาพมาก หลังเปิดท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาศักยภาพและโอกาสของเศรษฐกิจสุขภาพ หรือ Wellness Economy ของไทย พบว่า มีโอกาสเติบโตสูงมาก จากการที่ทั่วโลกตื่นตัวการใส่ใจต่อสุขภาพและการดูแลตนเองที่มากขึ้น โดยมีข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล (The Global Wellness Institute - GWI) ที่ประเมินว่าอุตสาหกรรมเวลเนสของโลก ระหว่างปี 2566 - 2568 จะมีโอกาสเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

โดยปี 2568 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 6.99 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัดส่วนมูลค่าตลาดเกือบ 70% จะอยู่ที่ 4 สาขา ได้แก่ (1) การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลและความงาม สัดส่วน 19.90% (2) โภชนาการและการลดน้ำหนัก สัดส่วน 17.04% (3) การออกกำลังกาย สัดส่วน 16.89% และ (4) ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สัดส่วน 15.88%

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพด้านเวลเนสในหลากหลายด้าน ได้รับการจัดอันดับ 1 ในการเป็นจุดหมายด้านการพักผ่อนเพื่อสุขภาพ (Wellness Retreat 2020, www.slingo.com) อันดับ 5 ประเทศที่มีการดูแลด้านสุขภาพที่ดี (Global Health Security Index 2021)

เทรน์คนรักสุขภาพมาแรง ดันเศรษฐกิจสุขภาพไทยโอกาสโตสูง

และอันดับ 5 ประเทศที่มีอิทธิพลของมรดกทางวัฒนธรรม (Culture Heritage Influence 2021, นิตยสาร CEOWorld) และไทยเองก็มีนโยบายในการสนับสนุนประเทศไทยเป็นระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย (Thailand Wellness Economic Corridor : TWC) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเวลเนสของไทย

“จากศักยภาพและขีดความสามารถในอุตสาหกรรมเวลเนส หากไทยมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมเวลเนสในสาขาที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้น จะสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายด้านเวลเนสสูง และช่วยในการกระจายรายได้ไปสู่การท่องเที่ยวเมืองรอง และยังสามารถชูอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมประสานกับความโดดเด่นในพื้นที่ ควบคู่กับการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการและการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ

เทรน์คนรักสุขภาพมาแรง ดันเศรษฐกิจสุขภาพไทยโอกาสโตสูง

รวมถึงการสนับสนุนการจับคู่ทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อดึงดูดการลงทุน จะช่วยบูรณาการการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมเวลเนสของไทย และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย”

สำหรับผลการศึกษาศักยภาพของอุตสาหกรรมเวลเนสสาขาต่าง ๆ ของไทย พบว่า สาขาที่ไทยมีศักยภาพ ไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกสูงและตลาดโลกเติบโตสูง ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกคิดเป็น 1.08% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 10.2% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,127.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยคาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นมากในช่วงหลังเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จึงเป็นสาขาที่ควรให้ความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การขยายตลาดของไทยต่อไป

สาขาที่เป็นโอกาสการพัฒนาของไทย โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกต่ำ แต่ตลาดโลกเติบโตสูง ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกคิดเป็น 0.14% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 12.4% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 580.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และการออกกำลังกาย โดยมีสัดส่วนไทยในตลาดโลกคิดเป็น 0.39% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 9.5% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,198.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งแนวโน้มการเติบโตสูง แต่ไทยมีสัดส่วนตลาดในประเทศและตลาดโลกน้อย จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้น

เทรน์คนรักสุขภาพมาแรง ดันเศรษฐกิจสุขภาพไทยโอกาสโตสูง

สาขาที่ตลาดมีขนาดเล็กแต่ไทยมีความโดดเด่น โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกสูง แต่ตลาดโลกเติบโตปานกลาง ได้แก่ สปา สัดส่วนไทยในตลาดโลก 1.55% ตลาดโลกเติบโต 7.0% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 150.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้สปามีมูลค่ารวมในตลาดโลกน้อย โดยมีสัดส่วนเพียง 1.54% และ 2.12% ของตลาดโลก ในปี 2563 และ 2568 ตามลำดับ แต่มีสัดส่วน 3.59% ของตลาดในประเทศไทย ซึ่งมองว่าไทยสามารถพัฒนาอัตลักษณ์เป็นจุดขายที่เจาะกลุ่มเฉพาะด้านได้

ส่วนสาขาที่ต้องปรับปรุงพัฒนา โดยการรีแบรนด์ หรือเพิ่มนวัตกรรม โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกต่ำ และตลาดโลกเติบโตปานกลาง แบ่งเป็น สาขาที่ไทยควรส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โภชนาการและการลดน้ำหนัก สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.92% ตลาดโลกเติบโต 5.4% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,209.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การดูแลสุขภาพและความงาม สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.68% ตลาดโลกเติบโต 5.0%

ทั้งนี้คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,412.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยาแผนโบราณและอาหารเสริม สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.69% ตลาดโลกเติบโต 6.6% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 582.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวชศาสตร์เชิงป้องกัน สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.46% ตลาดโลกเติบโต 5.5% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 478.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาขาการดูแลสุขภาพและความงาม และโภชนาการและการลดน้ำหนัก มีมูลค่ารวมในตลาดโลกสูง ซึ่งต้องให้ความสำคัญในการขยายตลาด ในส่วนของยาแผนโบราณและอาหารเสริม ต้องเร่งนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูง

นอกจากนี้ ยังมีสาขาที่ไทยควรเร่งพัฒนา ได้แก่ น้ำพุ น้ำแร่ร้อน ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลก 0.03% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 7.7% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 89.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งแม้จะมีขนาดตลาดไม่ใหญ่ และไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกน้อยมาก แต่ก็มีโอกาสจากแนวโน้มสัดส่วนตลาดโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และไทยมีแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนกลุ่มจังหวัดอันดามัน ซึ่งต้องประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น