เปิด 7 แนวทางกินอาหาร-กิจกรรมดูแลสุขภาพวัยทำงาน เช็คเลย

01 พ.ค. 2566 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2566 | 16:41 น.

เปิด 7 แนวทางกินอาหาร-กิจกรรมดูแลสุขภาพวัยทำงาน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ กรมอนามัยชี้ทำงานตลอดทั้งวัน อาจส่งผลให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้า ละเลยการดูแลสุขภาพ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการทำงานตลอดทั้งวัน อาจส่งผลให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้า ละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง ดังนั้นกลุ่มวัยทำงานจึงควรใส่ใจสุขภาพตนเองให้มากขึ้น ด้วยการกินอาหารให้เหมาะสม เพิ่มกิจกรรมทางกายในระหว่างวัน โดยใช้หลักการกินอาหารง่ายๆ ดังนี้ 

  • กินอาหารให้เพียงพอ ไม่กินมากไป ไม่กินน้อยไป 
  • ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ใน 1 วัน กินน้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา เติมน้ำปลาหรือซีอิ๊ว ซอสปรุงรสในการปรุงอาหารรวมกันไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา
  • ใช้สมุนไพรแทนการเติมเครื่องปรุงรส  เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอม กระทียม หรือเครื่องเทศต่างๆ ช่วยเพิ่มรสชาติอาหาร 
  • เลี่ยงอาหารทอด และอาหารใส่กะทิ เช่น เนื้อสัตว์ทอด เนื้อสัตว์ติดมัน หนังไก่ แกงกะทิ สลัดน้ำข้น เป็นต้น 
  • กินอาหารสด แทนอาหารแปรรูป การกินบะหมี่ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารกล่องแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปเป็นประจำอาจได้รับพลังงาน น้ำตาลและโซเดียมเกิน เพราะมีการใส่ผงปรุงรส ผงชูรส ผงปรุงรส วัตถุเติมแต่งอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติและยืดอายุการเก็บรักษา 
  • ลดหรือเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ เป็นต้น เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือกินผลไม้ชนิดหวานน้อยช่วยให้อิ่มเร็ว และกากใยก็ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น 
  • เลือกใช้โปรแกรม 7 สัปดาห์ สุขภาพดี หุ่นดี เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ 

 อย่างไรก็ดี การการพบปะสังสรรค์ตามร้านบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง เพื่อคลายเครียดนั้น อาจส่งผลให้น้ำหนักเกิน เพิ่มความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคไตตามาได้ หากสังสรรค์เพื่อผ่อนคลายความเครียด ควรกินอย่างมีสติ กินอย่างพอดี และเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์ 
 

นอกจากนี้ กลุ่มวัยทำงานควรมีกิจกรรมทางกายเป็นประจำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้มีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก โยคะ เป็นต้น 

เปิด 7 แนวทางกินอาหาร-กิจกรรมดูแลสุขภาพคนวัยทำงาน อีกทั้งควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7 – 9 ชั่วโมง และหมั่นชั่งน้ำหนักและวัดรอบเอว โดยเส้นรอบเอวต้องน้อยกว่าส่วนสูงหารสองเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน อ้วนลงพุง และโรคติดต่อไม่เรื้อรัง

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปอีกว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 -2563 พบว่า ค่าเฉลี่ย BMI ของผู้ชายเท่ากับ 24.2 และผู้หญิงเท่ากับ 25.2 ซึ่งถือว่าเกินกว่าเกณฑ์ปกติ โดยผู้ชาย 37.8% และผู้หญิง 46.4% อยู่ในเกณฑ์อ้วน 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ชาย 27.7% และผู้หญิง 50.4% อ้วนลงพุง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่ ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และในภาวะเร่งรีบกลุ่มวัยทำงานอาจเลือกกินอาหารจานด่วนที่ไม่ถูกหลักทางโภชนาการ เนื่องจากต้องการอาหารที่ทำง่ายและรวดเร็ว รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ 

 

ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์สุขภาพกลุ่มวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีภาวะอ้วน 42.4% กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอตามข้อแนะนำ 78.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจากการสำรวจครั้งที่ 5 ที่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ 74.1% รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ 30.7% 

และองค์กรอนามัยโลก (WHO) พบว่า เกือบหนึ่งในสามของประชากรไทย มีน้ำหนักตัวมากจนเป็นโรคอ้วน อ้วนลงพุง เนื่องจากใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่การกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงไม่มีเวลาออกกำลังกาย ซึ่งคนที่อ้วนลงพุง มักจะมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป ทำให้เกิดเมตาบอลิกซินโดรม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมาก โดยพบว่าคนที่มีลักษณะท้วม มีโอกาสอ้วนลงพุงได้ถึง 25% ส่งผลให้สุขภาพร่างกายไม่ดี