MI ปั้นซีรีส์วาย ต่อจิ๊กซอว์ Content Biz เจาะ GenY-Z

01 พ.ค. 2566 | 16:05 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2566 | 16:08 น.

เอ็มไอ กรุ๊ป ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ Content Biz เล็งปั้นซีรีส์วายลงสตรีมมิ่งไทย-ต่างประเทศ พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์ Biz Extension สร้าง New S-Curve

นายสมเกียรติ กิจเชวง Chief Trade Officer MI GROUP มีเดียเอเยนซีและที่ปรึกษาทางการตลาดและสื่อสารการตลาด เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทเริ่มต้นธุรกิจ Music & Festival ด้วยการร่วมทุนกับ DND (The Dream and Destiny Company Limited) เพื่อจัดทำเทศกาลดนตรี K-HipHop Music Festival ในชื่อ “Whoop Festival” ในเดือนตุลาคม 2565 และประสบความสำเร็จอย่างมาก

จึงเดินหน้าจัดมินิ คอนเสิร์ตครั้งแรกของ Nene ศิลปินจีนสัญชาติไทย ในเดือนมีนาฟคมที่ผ่านมา และล่าสุดที่เพิ่งจบไปคือคอนเสิร์ตใหญ่ของ INTO1 ในเดือนเมษายน ก็ประสบความสำเร็จสร้างปรากฏการณ์ SOLD OUT กับการขายบัตรคอนเสิร์ตทั้ง 2 รอบ หมดภายในไม่กี่ชั่วโมง

สมเกียรติ กิจเชวง

ซึ่งการจัดแสดงคอนเสิร์ตทั้ง 3 โปรเจ็กต์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นภาพถึงความจริงจังกับแผนการทำ Biz Extension ที่จะเป็น New S-Curve ในการเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่มีศักยภาพของ MI GROUP โดย Music & Festival จะเป็นภาคต่อของการทำ Biz Extension ไปสู่เรื่องการทำธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี การเลือกก้าวเข้าสู่ธุรกิจคอนเสิร์ต เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการใช้สื่อที่เปลี่ยนไปได้ส่งผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ ทำให้บริษัทต้องมองหาช่องทางใหม่ๆ ที่จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้คืนกลับมา เพราะอาศัยการสร้างรายได้จากมุมของการเป็นเอเยนซีแบบเดิมๆ เช่น การยิงแอด หรือการบริหารสื่อในวิธีการเดิมๆ ไม่เพียงพอที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อีกต่อไป เราจึงแตกไลน์ไปสู่ช่องทางใหม่ๆ แต่ยังอยู่ใน Ecosystem เดิมที่ยังมีความถนัด

MI ปั้นซีรีส์วาย ต่อจิ๊กซอว์ Content Biz  เจาะ GenY-Z

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ การใช้ Marketing Tool ที่เกิดจากกระบวนการวิเคราะห์ของ MI Learn Lab ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ MI GROUP จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลที่ได้จาก Marketing Tool ใหม่ๆ และนำเสนอข้อมูลในเชิง Marketing Insights ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มลูกค้าของ MI Group โดยใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้เข้าใจถึงความต้องการของ FANCLUB/ COMMUNITY กลุ่มต่างๆ

ว่ากำลังเฝ้ารอ และพร้อมกดซื้อบัตรคอนเสิร์ตของศิลปินกลุ่มไหนบ้าง โดยนำข้อมูลต่างๆ มาประเมินความต้องการ ควบคู่ไปกับการพิจารณาขนาดของด้อมต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรลงทุนจัดคอนนั้นหรือไม่ ควรจัดเมื่อไร บัตรราคาเท่าไรบ้าง รวมไปถึงบรรยากาศต่างๆ ในคอนเสิร์ตที่จะช่วยเสริมสร้างความพึงพอใจ ความประทับให้กับด้อมนั้นๆ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจกับคอนเสิร์ตที่จะจัดในครั้งต่อๆ ไป

“ทีม MI Learn Lab ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ในกลุ่ม Gen Y และ Z ที่มีความเข้ากลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน ซึ่งในกระบวนการวิเคราะห์ของ MI Learn Lab จะมีการทำ Focus Group เพื่อเจาะหา Insight เชิงลึก และพิจารณาข้อมูลในหลายๆ ด้าน เช่น การดู Conversation และขนาดของด้อมใน Social Listening Tool พร้อมกับใช้ Social Listening Tool ในการตามดูฟีดแบ็คหลังปล่อยวันจัดแสดงคอนเสิร์ต เพื่อปรับกลยุทธ์ในการสร้างกระแส และตอบโจทย์ความต้องการของด้อมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

MI ปั้นซีรีส์วาย ต่อจิ๊กซอว์ Content Biz  เจาะ GenY-Z

มีการวิเคราะห์ถึง Situation Analysis ผ่านทาง Social Platform และ Community และวิเคราะห์ถึงความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay) ของด้อมที่มีต่อตัวศิลปินนั้นๆ โดยคอนเสิร์ตครั้งนี้ เป็นการขึ้นคอนเสิร์ตในนาม INTO1 ครั้งท้ายๆ ก่อนจะแยกย้ายกันทำงานเพราะหมดสัญญาจากการประกวดร่วมกัน

ทำให้มั่นใจว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้จะต้องติดกระแสแน่นอน และผลตอบรับก็ดีเกินคาดสามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนบัตรที่จำหน่าย 70% เป็นกลุ่มแฟนคลับไทย และอีก 30% เป็นกลุ่มแฟนคลับจากประเทศจีน ที่เดินทางมาประเทศไทยแบบแพ็กเกจทัวร์เพื่อร่วมชมคอนเสิร์ต INTO1 โดยเฉพาะ”

การทำธุรกิจในรูปแบบ Content Biz เป็นการขยายธุรกิจที่เป็น New S-Curve ที่ยังเป็น Blue Ocean ซึ่งคอนเสิร์ตก็เป็นคอนเทนต์รูปแบบหนึ่งที่ยังต้องดูแนวโน้มต่อไปว่า ตลาดจะมีการแข่งขันมากขึ้นหรือไม่ เพราะหากมีแข่งขันสูงขึ้นก็อาจเปลี่ยนแนวทางการทำตลาด เพราะเป้าหมายของการทำ Content Biz ไม่ได้มีแค่เรื่องการจัดคอนเสิร์ตใหญ่

แต่ยังมีเรื่องของการทำมินิคอนเสิร์ต การจัดแฟนมีทของนักร้องนักแสดง และในอนาคตยังมีแผนจะขยายไปสู่การทำตลาดซีรีส์วาย เพื่อทำตลาดทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ และบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดีคาดว่าในปีนี้ธุรกิจ Content Biz จะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 15% ของรายได้รวม

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,882 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2566