โชว์บิซ 2023 บูม GMM-RS ยึดพื้นที่ทั่วไทยจัดใหญ่ “มิวสิค เฟส-คอนเสิร์ต”

12 มี.ค. 2566 | 11:15 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2566 | 11:22 น.
551

จับกระแส “โชว์บิซ 2023” คึกคัก 2 บิ๊ก “GMM-RS” เดินหน้าจัดเต็มมิวสิค เฟสติวัล-คอนเสิร์ต “จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” ชู 3 กลยุทธ์ ปักหมุดยึด 7 ยุทธศาสตร์ พร้อมขยายตลาดสู่เทศกาลสงกรานต์ ฮาโลวีน ด้าน “อาร์เอส” ปักเป้าโกยรายได้ทะลุ 2,400 ล้านกับ 4 มิวสิคเฟส 4 คอนเสิร์ตใหญ่

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมมิวสิค เฟสติวัลและโชว์บิซ ในไทยมีเม็ดเงินรวมกว่า 2,500 ล้านบาท ใกล้เคียงกับคอนเสิร์ตของต่างประเทศที่มีมูลค่าราว 2,500 ล้านบาทเช่นกัน ซึ่งในแต่ละปีมีงานดนตรีที่ใช้นามสกุล Music Festival ไม่ต่ำกว่า 300-400 อีเว้นท์ แบ่งเป็นสเกล L หรือมีผู้ชม 1-2 หมื่นคนขึ้นไป มี GMM เป็นผู้เล่นหลักแบรนด์เดียว สเกล M มีผู้เข้าชม 5,000 ขึ้นไปกว่า 100 อีเว้นท์ ส่วนสเกล S จำนวน 300-400 อีเว้นท์

ในช่วงหลังโควิดที่ผ่านมาธุรกิจโชว์บิซ สามารถสร้างรายได้ให้กับ จีเอ็มเอ็ม มิวสิคกว่า 542 ล้านบาทและธุรกิจ Live Show สร้างรายได้ 410 ล้านบาท สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้โต 25% หรือรายได้ 3,800 ล้านบาท และคาดว่าธุรกิจโชว์บิซจะสามารถทำรายได้ 898ล้านบาทหรือเติบโต 66% ผ่าน 3 กลยุทธ์คือ

1. Music Festival ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก กับ Big mountain หลังจากนี้การเติบโตจะออกมาในรูปแบบของแบรนด์ที่หลากหลาย โดยยึด 7 ยุทธศาสตร์ของประเทศ เริ่มจาก “เชียงใหญ่ เฟส” งานเทศกาลดนตรีที่ใช้ยึดคนภาคเหนือกว่า 10 ล้านคนและในปีนี้มีโอกาสที่จะมีคนร่วมงาน 50,000 คนและกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ             

โชว์บิซ 2023 บูม GMM-RS  ยึดพื้นที่ทั่วไทยจัดใหญ่ “มิวสิค เฟส-คอนเสิร์ต”            

“พุ่งใต้เฟส” จากเหนือสุดลงไปยึดภาคใต้ ด้วยโปรดักชั่นใหญ่ ไลน์อัพเบอร์ใหญ่ๆ และแนวเพลงแมสๆ “เฉียงเหนือเฟส” ยึดภาคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเป็นฐานของคนที่ชอบฟังเพลงอินดี้มากกว่าภาคอื่น GMM จึงจัดเทศกาลดนตรีแนวอินดี้เอาใจวัยรุ่นอีสานทั้งภาคและมีโอกาสเติบโตเป็น “ฮับเทศกาลดนตรีอินดี้” ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นต้น

“เราไม่อยากขยาย Music Festival โดยใช้lแบรนด์ Big mountain เพราะในเชิงของการตลาดเรามองว่า เราควรเปิดแบรนด์ใหม่ถ้าเราเจ๋งจริง เราจึงจัดเชียงใหญ่เฟส ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาการเติบโตสูงกว่า Big mountain ที่ใช้เวลา12 ปีกว่าที่จะมีคนเข้าชมแสนคน แต่วันนี้มิวสิคเฟสทุกภาครวมกันมีผู้ชม 500,000 คนเป็นอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว สิ่งที่จะคอนเน็คต่อคือเมื่อเรายึดภาคเหนือได้ก็จะสามารถไปต่อถึง international ไม่ยาก ซึ่งแน่นอนว่าท้ายที่สุดเราต้องเดินไปถึงการท่องเที่ยวแน่นอน ”

2. ขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ ภายใต้ 4 รูปแบบ คือ 1. ขยายเข้าสู่งานเทศกาลสงกรานต์จังหวัด เริ่มจากเชียงใหม่ให้เป็น “ฮับสงกรานต์” และใช้เป็น Blueprint ไปสู่ Festival อื่นๆ 2. เดินเข้าสู่งานฮาโลวีน เพราะมีโอกาสทางการตลาดสูงมีเม็ดเงินในการจับจ่ายกว่า 10,500 ล้านบาท มีคนอยากแต่งตัว อยากใช้จ่ายและส่วนใหญ่เป็นคนมีเงินแต่ที่ผ่านมาไม่มีการจัดงานใหญ่ มีแค่สเกลผับบาร์ ถ้าจีเอ็มเอ็มสามารถจัด “Music Festival halloween” ได้ก็น่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้พอร์ตได้

โชว์บิซ 2023 บูม GMM-RS  ยึดพื้นที่ทั่วไทยจัดใหญ่ “มิวสิค เฟส-คอนเสิร์ต”

3. จัดงาน Festival สำหรับ LGBTQ+ ภายใต้แบรนด์ใหม่ SPECTRA (สเปคตร้า) เพื่อสร้างโอกาสในการเป็น ฮับขนาดใหญ่ของ LGBTQ+ เอเชีย และเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดที่ยังไม่มีใครจับจอง และสุดท้ายนี่เป็นครั้งแรกที่ GMM จะเดินเข้าสู่ International Market

“วันนี้เราจะเป็นโปรโมเตอร์ที่ไม่ได้จัดแค่ Music Festival หรือคอนเสิร์ตไทย แต่จะเดินเข้าสู่คอนเสิร์ตหรือแฟนมีตหรือกระทั่ง Music Festival ของประเทศเกาหลี เรามีการสร้างทีมขึ้นมาเพื่อลุยตลาดไอดอลเกาหลี ที่เข้าใจวัยรุ่น เข้าใจแฟนคลับและเข้าใจโอเปอเรชั่นโดยเฉพาะ นี่คือ 4 เซ็กเม้นท์ใหม่ที่จะพาเราเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างแบรนดิ้งเพื่อให้คนจับต้องได้ว่าจีเอ็มเอ็มมีจุดแข็งมีกลุ่มเป้าหมายและมีลูกค้าที่ชัดเจน

และในอนาคตโชว์บิซจะขึ้นมาเป็น 1 ในเสาหลักที่มี growth Engine มากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งท้ายที่สุดเราจะเดินไปสู่การท่องเที่ยว เพราะไทยติด Top 5 ประเทศที่คนต่างชาติอยากเข้ามาเที่ยว งาน Music Festival คนไม่ได้มาแค่ฟังเพลง แต่มาเสพวัฒนธรรม ดังนั้น Music Festival ที่เราจัดจะเป็นสะพานเดินเข้าสู่การท่องเที่ยว แม้ค่าบัตร Music Festival จะไม่แพงแต่การใช้จ่ายในงานเยอะทั้งกิน ดื่ม ที่พักไม่ต่ำกว่า 3,000 -5,000 บาท/คน”

อีกกลุ่มบริษัทที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจโชว์บิซ และมิวสิค เฟสติวัล คือบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ซึ่งในปี 2565 อาร์เอสมีรายได้จากธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์กว่า 1,800 ล้านบาท โดยมาจากธุรกิจสื่อ (ช่อง 8 และ Coolism) จำนวน 1,421 ล้านบาท และธุรกิจเพลงและอื่นๆ 396 ล้านบาท

ขณะที่ในปีนี้การเดินหน้ารุกธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างต่อเนื่องจะทำให้มีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2,400 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากคอนเสิร์ตและอีเว้นท์อื่น 550 ล้านบาท อาร์เอส มิวสิค 400 ล้านบาท และอาร์เอส มัลติมีเดีย (ช่อง 8 และ Coolism) 1,450 ล้านบาท

โดยนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรืออาร์เอส กรุ๊ป กล่าวถึงแผนงานของคูลไลฟ์ (COOLive) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ RS Multimedia ว่า แผนธุรกิจโชว์บิซในปีนี้ จะเดินหน้าภายใต้คอนเซปต์ #inCOOLsiveExperience สร้างประสบการณ์ร่วมที่คูลกว่าสำหรับทุกเจเนอเรชัน โดยมีแผนจัดมิวสิค เฟสติวัลทุกฤดูกาล ใน 4 พื้นที่

โชว์บิซ 2023 บูม GMM-RS  ยึดพื้นที่ทั่วไทยจัดใหญ่ “มิวสิค เฟส-คอนเสิร์ต”

ได้แก่ ชะอำ, สวนผึ้ง กรุงเทพฯ และเขาใหญ่ ร่วมกับค่ายเพลงพันธมิตรพร้อมด้วยศิลปินชั้นนำมากมาย นำร่องโดย “COOL Summer Fest 2023” ซึ่งมีศิลปินชั้นนำ อาทิ STAMP, URBOYTJ, TWOPEE SOUTHSIDE, WAII, NO ONE ELSE, PIXXIE, BAMM และ SLAPKISS ในวันที่ 22 เมษายน 2566 ณ ริมชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี

ขณะที่คอนเสิร์ตใหญ่ที่รวมทุกความออริจินัลของอาร์เอสจะจัดขึ้น 4 งาน ได้แก่ RS Hits Journey 2023, D2B 22nd Anniversary Concert 2023, Kamikaze Party Reunion และ RS Meeting Danceventure Concert 2023 โดยคอนเสิร์ตแรกของปีได้แก่ RS Hits Journey รวมเพลงฮิตจากศิลปินอาร์เอสทุกยุค ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,869 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2566