FTA ไทย – EFTA เตรียมถกรอบ 4 ตั้งเป้าสรุปผลต้นปี 67

24 เม.ย. 2566 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 10:35 น.

ไทย – EFTA เดินหน้าถกรอบ4 วันที่ 24-28 เม.ย.นี้ ในกลุ่มการค้าสินค้า และกลุ่มกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ตั้งเป้าสรุปผลเจรจาต้นปี 67

นางอรมน ทรัพย์ธวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ กำหนดจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) รอบที่ 4 ระหว่างวันที่ 24 – 28 เมษายน 2566

นางอรมน ทรัพย์ธวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

โดยตนในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย จะเป็นประธานร่วมกับเอกอัครราชทูตผู้แทนความตกลงการค้าของสมาพันธรัฐสวิสและหัวหน้าฝ่ายการค้าโลกภายใต้คณะกรรมการกิจการเศรษฐกิจต่างประเทศ (Mr. Markus Schlagenhof) หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่าย EFTA

ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการประชุมแบบผสมผสาน คือ การประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ และการประชุมเจรจาแบบพบกันจริง ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

สำหรับการประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ เป็นการประชุมในระดับหัวหน้าคณะเจรจา และการประชุมกลุ่มย่อย 9 คณะ ได้แก่ มาตรการเยียวยาทางการค้า  มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน  ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ และ  ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย

และข้อบทเชิงสถาบันและการระงับข้อพิพาท ส่วนการประชุมเจรจาแบบพบกันจริง จะเป็นการประชุมคณะเจรจากลุ่มย่อย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มการค้าสินค้า และกลุ่มกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า สำหรับการประชุม 3 รอบที่ผ่านมา มีความคืบหน้าด้วยดี ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะได้ข้อสรุปการยกร่างข้อบทความตกลงในส่วนที่ยังค้างอยู่มากขึ้น และตั้งเป้าปิดรอบการเจรจาได้ในช่วงต้นปี 2567

ทั้งนี้ ในปี 2565 EFTA ถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของไทย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) การค้าระหว่างไทยกับ EFTA มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 9,857.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค. – ก.พ. 2566) การค้ารวมมีมูลค่า 844.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 192.46 ดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 573,15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ