6 เมกะโปรเจ็กต์ ต้อนรับครม.ชุดใหม่ 4.3 แสนล้าน

16 เม.ย. 2566 | 13:07 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2566 | 16:26 น.
956

เปิด 6 เมกะโปรเจ็กต์ ค้างท่อ 4.3 แสนล้านบาท ลุ้นชงครม.ชุดใหม่ไฟเขียว เร่งแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน หวั่นโครงการล่าช้า ฟากสายสีส้ม ศาลปกครองพิพากษาไม่รอคำสั่งศาลคดีอื่น ลุยเดินหน้าต่อ

ที่ผ่านมาพบว่า โครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมหลายโครงการไม่สามารถเสนอให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเดิมพิจารณาเห็นชอบได้ทัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง 2566 ทำให้หลายโครงการเกิดความล่าช้า ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ 

 

เริ่มที่โครงการแรก “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถแก้สัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ทัน โดยเฉพาะการชำระค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรล ลิงก์ โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด รวมทั้งการเพิ่มข้อความในการแก้ไขสัญญาฯใหม่ พบว่าสัญญาเดิมเกิดก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในสัญญาไม่ได้มีการระบุข้อความ หากโครงการฯไม่เป็นไปตามสถานการณ์ที่คาดไว้ หรือมาจากปัจจัยภายนอก สามารถเปิดโอกาสให้ผ่อนผันในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ ทั้งนี้จะต้องมีการเยียวยาให้แก่เอกชนตามสัญญา
 

หลังจากนี้หากแก้ไขสัญญาฯแล้วเสร็จจะต้องเสนอให้คณะกรรมการ รฟท.รับทราบและส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบ หากได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะต้องเร่งรัดเดินหน้าโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน เป็นโครงการฯแรกที่ต้องดำเนินการในการเจรจาร่วมกับเอกชน เพื่อเตรียมรอรับรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติแก้สัญญาฯ ต่อไป 

 

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังไร้วี่แววที่จะลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนผู้ชนะการประมูลโครงการฯ คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดก่อนพิจารณาเห็นชอบ แต่กลับพบว่าที่ประชุมในครั้งนั้นมีรัฐมนตรีหลายท่านไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีข้อกังวลในเรื่องข้อกฎหมาย โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กลางอีกหลายคดี ทำให้โครงการฯนี้ถูกถอดออกจากการประชุมทันที  
 

ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มชอบด้วยกฎหมาย

6 เมกะโปรเจ็กต์ ต้อนรับครม.ชุดใหม่ 4.3 แสนล้าน

ศาลปกครองวินิจฉัยอีกว่า คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการฟ้องร้องคดีหลายสำนวนของศาลปกครองจึงไม่สามารถทราบวันเวลาสิ้นสุดว่าจะสิ้นสุดคดีเมื่อไร ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการฯมีปัญหาล่าช้า เบื้องต้นทางคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถเดินหน้าการเปิดประมูลโครงการฯโดยไม่ต้องรอให้ศาลวินิจฉัย เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยทั่วไปที่สามารถยอมรับได้ 

 

ถึงแม้ว่าศาลปกครองให้โครงการฯสามารถเดินหน้าต่อได้โดยไม่ ต้องรอคำพิพากษาของศาลในคดีอื่นๆก็ตาม แต่โครงการฯนี้ยังไม่สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการได้ ซึ่งจะต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เข้ามาพิจารณาเพื่อเห็นชอบโครงการนี้แทน  

 

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร  (กทม.) ยังไม่สามารถแก้ปัญหาสัญญารถไฟฟ้าสายนี้ได้ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้กทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า 12,000 ล้านบาท อีกทั้งยังไม่มีหนทางแก้ปัญหาที่จะชำระหนี้ให้แก่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กว่า 5 หมื่นล้านบาทได้ 

 

ขณะที่การจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังเปิดให้บริการฟรีแก่ประชาชนอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งจะต้องรอลุ้นว่าหากครม.ชุดใหม่เข้ามา บริหาร จะสามารถแก้ปัญหาโครงการฯนี้ได้หรือไม่ 

 

ปัจจุบันพบว่ามูลหนี้ที่ภาครัฐค้างจ่ายในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัทฯ รวมเป็นวงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เงินต้นรวมดอกเบี้ย แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถ ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาทและค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 2.28 หมื่นล้านบาท 

 

ปิดท้ายที่โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง มูลค่า 21,664 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 1.06 หมื่นล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท และสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448 ล้านบาท

 

ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดผลักดันโครงการทั้ง 3 สายนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเดิมอนุมัติโครงการฯ ได้  ปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทั้ง 3 โครงการฯนั้นถูกพับแผนออก ไปก่อน จนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารต่อไป

 

หลังจากนี้คงต้องรอลุ้นรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานหลังสิ้นสุดการเลือกตั้ง 2566 จะสามารถผลักดันโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ หากสามารถดำเนินการได้จะทำให้การเดินทางของประชาชนสะดวกสบายมากขึ้นในอนาคต