"สายสีส้ม "เดินหน้าต่อ รฟม.ลุยเซ็นสัญญาเอกชน หลังศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง

01 เม.ย. 2566 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2566 | 15:16 น.

รถไฟฟ้า"สายสีส้ม" เดินหน้าต่อ รฟม.ลุยเซ็นสัญญาเอกชน รอรัฐบาลหน้าไฟเขียว หลังศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องล้มประมูล ชอบด้วยกฎหมาย

 

ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี (BTSC) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ฯ

กรณีมีมติการประชุมเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า1.4แสนล้านบาท ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ฯ มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มชอบด้วยกฎหมาย

 

โดยศาลฯพิเคราะห์ ว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์หากล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนทางการเงินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก

รวมถึงทำให้การให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ล่าช้า ส่งผลให้มีค่าใช้ด้านงานโยธาส่วนตะวันออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการฯ เมื่อเปิดให้บริการทั้งเส้นทางจะมีผู้ใช้บริการ 439,736 คนต่อเที่ยวต่อวัน หากเปิดล่าช้าจะทำให้ผู้ใช้บริการสูญเสียประโยชน์

ส่วนในกรณีที่คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการฟ้องร้องคดีหลายสำนวนของศาลปกครองจึงไม่สามารถทราบวันเวลาสิ้นสุดว่าจะสิ้นสุดคดีเมื่อไร ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการฯ มีปัญหาล่าช้า เบื้องต้นทางคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถเดินหน้า เปิดประมูลโครงการฯ และดำเนินโครงการต่อไปได้ โดยไม่ต้องรอให้ศาลวินิจฉัย เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยทั่วไปที่สามารถยอมรับได้

นอกจากนี้ในกรณีที่ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการฯขัดความเสมอภาคหรือไม่นั้น ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวไม่ขัดความเสมอภาคและเป็นการดำเนินการโดยสุจริต

เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยังไม่ได้พิจารณาเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนรายใด ทำให้การยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง อีกทั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ไม่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก

ดังนั้นการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการฯสามารถทำได้ตามพระราชบัญญัติการร่วมวมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ปี 2562 โดยในเอกสารได้ระบุไว้ว่า รฟม.สงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนได้

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบ คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ฟ้องร้องอยู่ในศาล อีกจำนวน 2 คดี ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในศาลปกครอง

1 คดี คือ คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง ในกรณีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ฟ้องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการกีดกันด้านการแข่งขัน

 ส่วนอีก 1 คดี ปัจจุบันอยู่ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีได้ฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ในการแก้ไขเอกสารการประกวดราคาและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นการทุจริตละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบันคดีนี้ทางบีทีเอสซีอยู่ระหว่างขอขยายเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา

 ด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคดีล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังบีทีเอสยื่นฟ้องรฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ว่า รฟม.สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด ทำให้ผลการตัดสินของศาลออกมาแบบนี้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าที่ผ่านมา รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานและอำนาจหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย

หลังจากนี้จะต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งตามขั้นตอน ครม.จะต้องส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้รัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่ยืนยันอีกครั้ง หากพิจารณาแล้วเห็นชอบตามเดิมกระทรวงก็สามารถนำเสนอเรื่องให้ครม.พิจารณาได้ต่อไป ทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะลงนามในสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลได้เมื่อไร