“คมนาคม” บี้ รฟท. เร่งสปีดสร้างต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง 2.1 หมื่นล้าน

23 มิ.ย. 2565 | 19:29 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2565 | 02:35 น.
4.5 k

“คมนาคม” ถก รฟท.ดัน 3 เส้นทาง สร้างส่วนต่อขยายสายสีแดง 2.1 หมื่นล้านบาท เล็งเปิดประมูลภายในเดือนม.ค.66 ลุยตอกเสาเข็มภายในพ.ค.66 คาดว่าแล้วเสร็จปี 69

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ว่า ที่ประชุมได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าโครงการรถไฟสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) เบื้องต้นได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้าง สายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท ,ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท ภายในเดือนธันวาคม 2565 นี้ และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกันทั้ง 3 เส้นทางจะประกวดราคาในเดือนมกราคม 2566 จะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 สามารถเปิดให้บริการต่อขยายเส้นทางจากรถไฟสายสีแดงที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ไปยังพื้นที่ชานเมืองทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร รองรับการเดินทางของประชาชนและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา รวมถึงประชาชนที่ใช้บริการโรงพยาบาลศิริราช ให้ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางได้อย่างตรงเวลายิ่งขึ้น 

ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการปรับปรุงแบบสถานีราชวิถีใหม่ให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก และเป็นการบูรณาการการใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายสีแดงช่วง Missing Link ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุดในการเดินทางเชื่อมต่อ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571

“คมนาคม” บี้ รฟท. เร่งสปีดสร้างต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง 2.1 หมื่นล้าน

“ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ให้คณะกรรมการกำหนดราคากลางโดยพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามหลักธรรมาธิบาลอย่างเคร่งครัดก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและให้ รฟท. เสนอรูปแบบของสัญญาการประกวดราคาแบบปรับราคาได้ ซึ่งจะทำให้กรอบวงเงินโครงการลดลงตามค่า k อันจะช่วยประหยัดวงเงินลงทุนโครงการได้ ในกรณีที่มีการลดลงของราคาวัสดุหรือต้นทุนทางพลังงาน”

“คมนาคม” บี้ รฟท. เร่งสปีดสร้างต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง 2.1 หมื่นล้าน

 

ทั้งนี้ได้กำชับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทาง สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ที่จะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน การท่องเที่ยวนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด