บิ๊กโปรเจ็กต์ 2ล้านล้านค้างท่อ รอรัฐบาลใหม่ไฟเขียว

02 เม.ย. 2566 | 06:36 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2566 | 10:14 น.
631

บิ๊กโปรเจ็กต์ 2ล้านล้าน ค้างท่อ รอรัฐบาลใหม่ไฟเขียว รถไฟฟ้าสายสีส้ม -ผลักดันรื้อร่างสัญญา ไฮสปีด 3สนามบิน เซ็นสัญญา ลุ้นแลนด์บริดจ์-สายสีแดงลงทุนก้อนโต

 

มีโครงการขนาดใหญ่ จำนวนไม่น้อย ที่ตกขบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)รัฐบาล ชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นัดสุดท้ายวันที่ 14 มีนาคม 2566 ก่อนยุบสภา ส่งผลให้เกิดสุญญากาศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จัดซื้อจัดจ้าง จับจ่าย อาจชะงักงัน ต้องรอรัฐบาลใหม่

คาดการณ์ว่า ราวเดือนสิงหาคมนี้ พิจารณาอนุมัติ ซึ่งมีภาคเอกชนให้ความสนใจเตรียมความพร้อมเข้าประมูลงานแต่ มองว่ามักจะอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย เพราะรัฐมีงบประมาณจำกัด ส่วนใหญ่มักเน้นการประมูลรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP)

โดยมองว่า เอกชนรายกลาง-รายเล็กอาจได้อานิสงส์ จากการซับคอนแทรค รายใหญ่ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ในทางกลับกันหากเป็นขั้วรัฐบาลเดิมตั้งรัฐบาล อาจจะต่อยอดโครงการไปได้แต่หากเป็นขั้วใหม่อาจสุ่มเสี่ยงจากการถูกรื้อโครงการบ้าง แต่ทั้งนี้มองว่าไม่ว่าฝั่งไหนมาล้วนแต่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์แทบทั้งสิ้น 

2ล้านล้านสะพัด

ทั้งนี้จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่ามีโครงการของกระทรวงคมนาคม รอเร่งรัดผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของครม.ชุดใหม่ ประมาณ 15 โครงการ มูลค่าไม่ตํ่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ที่เป็นไฮไลต์ได้แก่ รอครม.ชุดใหม่อนุมัติผลการประมูลเพื่อลงนามในสัญญาเดินหน้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท

หลังจากศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า การยกเลิกประมูลสายสีส้มตามอำนาจคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562ฯ และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้โครงการดังกล่าว เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง                         

โครงการพร้อมลุยต่อ

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ต้องผลักดันต่อเนื่อง อาทิ โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีหนังสือลงวันที่ 1 มีนาคม 2566 ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และการปรับค่า K ใหม่ตามข้อสังเกตของสำนักงบประมาณ

โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มีหนังสือลงเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ประมวลความเห็นของทุกหน่วยงานเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ,โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 4,616 ล้านบาท ,โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท

ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ,โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอสำนักงบประมาณพิจารณาตอบกลับความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลร่างพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและแผนที่แนบท้าย หลังจากนั้นกรมการขนส่งทางราง (ขร.) จะรวบรวมความเห็นของทุกหน่วยงานเพื่อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) มูลค่าลงทุนรวม 1.1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมา ได้นำเสนอต่อครม.รับทราบความก้าวหน้าในการศึกษาโครงการเบื้องต้น แต่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ครม.ยังไม่ได้อนุมัติ,การโอน 3 สนามบิน ในการบริหารของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้ทอท. บริหารจัดการ

ขณะนี้อยู่ระหว่าง ทย. ดำเนินการขอใบอนุญาตสนามบินจากสำนักงานการบินพลเรือน (CAAT) เมื่อใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะมีการอนุมัติแล้ว จะนำเสนอครม.ต่อไป ,โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท

ที่ผ่านมาโครงการฯได้ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) แล้ว ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและครม.พิจารณาเห็นชอบหลักการของโครงการฯ ภายในปีนี้ ,โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) วงเงินลงทุน 31,375 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) พิจารณา

หากคณะกรรมการ PPP เห็นชอบแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ ,โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินราว 17,000 ล้านบาท ตามแผน กทพ.อยู่ระหว่างรอกระทรวงคมนาคมเสนอต่อครม.พิจารณาอนุมติก่อสร้างโครงการฯ ตอน N2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ที่ผ่านมาหรือให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ปัจจุบันเลยกำหนดเป้าหมายที่วางไว้, โครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง มูลค่าเงินลงทุนรวม 14,670 ล้านบาทปัจจุบัน กทพ.ได้กำหนดให้เอกชนจัดทำข้อเสนอประมาณ 3 เดือน โดยกำหนดรับซองเอกสารข้อเสนอจากเอกชนในวันที่ 7 เมษายนนี้

คาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูล โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและครม.หรือรัฐบาลชุดใหม่เห็นชอบ ภายในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อลงนามสัญญาภายในปลายปี 2566

โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย วงเงิน 2,864 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองกับผู้ผ่านการประเมินสูงสุด คาดว่าจะเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกก่อนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ภายในปีงบประมาณ 2566

แผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ผ่านมาขสมก.มีแผนศึกษาสรุปข้อมูลทั้งหมด ทั้งการจัดหารถใหม่ และการทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งตามกระบวนการจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการ ขสมก.,กระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หลังจากนั้นจะเสนอครม.ต่อไป

เร่งเต็มสูบเบิกจ่ายงบ’66

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้เร่งรัด ติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เบื้องต้นที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานและการลงนามในสัญญา เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ของหน่วยงานในสังกัดให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

โดยผลการดำเนินงาน ตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2566 (8 ส่วนราชการ และ 5 รัฐวิสาหกิจ) ในภาพรวม จำนวน 228,930.28 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 27,419.32 ล้านบาท คิดเป็น 11.98% และรายจ่ายลงทุน 201,510.96 ล้านบาท คิดเป็น 88.02% ขณะที่งบรายจ่ายลงทุน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 57,771 ล้านบาท คิดเป็น 28.67% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสร

ด้านรายการรายจ่ายลงทุนปีเดียวที่กระทรวงคมนาคมจะต้องจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 7,033 รายการ วงเงิน 79,424 ล้านบาท ปัจจุบันได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว จำนวน 6,877 รายการ วงเงิน 77,091 ล้านบาท และลงนามสัญญาแล้ว จำนวน 6,765 รายการ วงเงิน 74,549 ล้านบาท ขณะที่รายการผูกพันใหม่ ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว จำนวน 175 รายการ วงเงิน 8,595 ล้านบาทและลงนามสัญญาแล้ว จำนวน 71 รายการ วงเงิน 528 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยลงนามในสัญญาให้ครบทุกรายการภายในเดือนกันยายน 2566

ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้รับเหมาระบุว่า ยอมรับว่าการเบิกจ่ายอาจหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ในมุมกลับกัน จะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นฝั่งใดเชื่อว่าต้องเข้ามาขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อเนื่อง

เมกะโปรเจ็กต์ รอขับเคลื่อน