ไฮสปีดสะดุด! สุพัฒนพงษ์ บี้ รื้อร่างสัญญา โยนครม.ใหม่ชี้ขาด “สร้างไป จ่ายไป”

31 มี.ค. 2566 | 09:00 น.

  ไฮสปีด อีอีซี วุ่นไม่จบ “สุพัฒนพงษ์”  ประธานบอร์ด อนุฯ กบอ. ตีกลับร่างแก้สัญญา ปม “สร้างไปจ่ายไป” เสี่ยงทิ้งงาน หลังเปิดสร้างทีละท่อน สั่งรฟท.-เอกชน-สกพอ. วางกรอบ จบ31 มี.ค.ก่อนโยนครม.ใหม่ชี้ขาด    

 

ผลจากสถานการณ์โควิดสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายธุรกิจไม่เว้นแม้แต่อภิโปรเจ็กต์ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ -อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน   ที่ปัจจุบันยังมีความล่าช้ายังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้  และเป็นชนวนนำไปสู่การ แก้สัญญาครั้งใหญ่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี คู่สัญญา

เริ่ม จากการปรับการชำระเงินค่าสิทธิ บริหารโครงการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตเรล ลิงก์ มูลค่า  10,671.09 ล้านบาท  ปรับแบ่งชำระ 7งวด ซึ่งเดิมต้องชำระก้อนเดียวภายในวันที่ 24ตุลาคม 2564 ตามเงื่อนไขสัญญา

ที่เป็นปัญหาใหญ่คือพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับ โครงการรถไฟไทย-จีน บริเวณบางซื่อ -ดอนเมือง ทำให้ เป็นจุดแลกเปลี่ยนเงื่อนไข ที่รฟท.ต้องการให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน ฯ ทำหน้าที่ก่อสร้าง ในคราวเดียวกัน เพื่อลดงบประมาณ ขณะเดียวกัน เอกชนขอปรับเงื่อนไข จากก่อสร้างแล้วเสร็จ(ปีที่6) รัฐจึงนับหนึ่ง จ่ายค่าก่อสร้าง เป็นเวลา10 งวด

เปลี่ยนเป็นสร้างไปจ่ายไปทั้งโครงการทั้ง 3 ช่วง เพื่อให้เกิดสภาพคล่องหมุนเวียนได้แก่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาส่งมอบพื้นที่ 100%,พญาไท-บางซื่ออยู่ระหว่างรื้อย้ายท่อนํ้ามันฯลฯ  และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง พื้นที่ทับซ้อนรถไฟไทย-จีนกับไฮสปีด สามสนามบินฯ ปัจจุบันส่งมอบพื้นที่แล้ว    

 

 

ตีกลับสัญญาใหม่ไฮสปีด  

               จากข้อเสนอแก้สัญญาดังกล่าว มีรายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่าในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเมื่อไม่นานมานี้ 

ได้มีข้อสั่งการให้รฟท.บริษัท เอเชีย เอรา วัน ฯ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปให้เกิดความรอบครอบเกี่ยวกับการแก้สัญญากรณี “สร้างไปจ่ายไป” หรือให้รัฐชำระค่างวดงานก่อสร้างให้กับภาคเอกชนเร็วขึ้นในแต่ละช่วงของโครงการ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด    

 โดยกำชับว่าควรวางกรอบให้รัดกุมเพราะอาจจะเป็นช่องโหว่ ทำให้ เอกชน ทิ้งงาน หรือส่งมอบงานล่าช้าได้ และให้ รฟท.กลับไปหาข้อสรุปที่ดีกว่านี้ และให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ พร้อมเสนอกลับมายัง บอร์ดอนุกรรมการ กบอ.ของนายสุพัฒนพงษ์ อีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่คณะกรรมการ กำกับตาม พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562  

จากนั้นเข้ากบอ. , คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับแต่ทั้งนี้ต้องเป็น ครม.ชุดใหม่

อย่างไรก็ตามในมุมรฟท.มองว่าการแลกข้อเสนอซึ่งกันและกันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะช่วยให้รัฐประหยัดงบลงอย่างมาก ขณะเอกชนลดผลกระทบจากดอกเบี้ยจากการกู้เงินจากธนาคาร ส่วนเรื่องการปรับแก้สัญญาในส่วนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

สกพอ.ยัน แก้สัญญาจบปีนี้

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สามสนามบิน ที่ผ่านมาได้ผ่านความเห็นชอบหลักการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯจากกพอ.แล้ว

หลังจากนี้สกพอ.จะดำเนินการตามมติกพอ.เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ในส่วนของการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยจะต้องแจ้งรฟท., เอกชนคู่สัญญา และครม.รับทราบด้วย

“หากรฟท.ดำเนินการแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ แล้วเสร็จ จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณา ก่อนส่งให้คณะกรรมการกำกับสัญญาฯและอัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้นจะต้องนำร่างสัญญาดังกล่าวเสนอต่อกพอ. และครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไปคาดว่าจะสามารถลงนามแก้ไขสัญญาโครงการฯร่วมกับเอกชนได้ภายในปีนี้”

ลากยาว รอครม.ชุดใหม่

ทั้งนี้การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากกระบวนการในการจัดทำร่างสัญญาฯเพื่อส่งให้คณะกรรมการกำกับสัญญาฯและอัยการสูงสุดตรวจสอบค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน

“กรณีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯจะดำเนินการภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อแผนการก่อสร้างของโครงการฯหรือไม่นั้น มองว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนและการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI โดยเอกชนสามารถเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างได้เลย ส่วนการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นมาตรการที่แก้ปัญหาจากผลลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งตามสัญญาไม่ได้ผูกพันกัน”

รายงานข่าวจากสกพอ. กล่าวต่อว่าด้านแผนการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร (กม.) ขณะนี้ได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งพื้นที่บริเวณมักกะสันและลำรางสาธารณะครบ 100% แต่ปัจจุบันเอกชนอยู่ระหว่างรอบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก่อน โดยระหว่างนี้เอกชนได้เตรียมดำเนินการก่อสร้างถนน,สะพาน และโรงหล่อคอนกรีตแล้วเสร็จ 

ขณะที่แผนการส่งงมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร (กม.) ที่ผ่านมาได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้เอกชนครบ 100% ซึ่งมั่นใจว่าแผนการส่งมอบในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเอกชนตรวจรับงานก่อน

ส่วนแผนการส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท-บางซื่อ ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) พบว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา รฟท.ได้ดำเนินการย้ายผู้บุกรุกออกจากพื้นที่แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการรื้อย้ายท่อนํ้ามัน คาดดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะส่งมอบพื้นที่ได้ภายในเดือนตุลาคม 2566

เงื่อนไขแก้สัญญา 3  ด้าน

สำหรับเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯและความเหมาะสมของแนวทางแก้ปัญหา 3 เรื่อง  ประกอบด้วย 1.การปรับเงื่อนไขการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 10,671 ล้านบาท ปรับเป็นแบ่งชำระงวดละ 1,067 ล้านบาทต่อปี ไม่เกิน 7 งวด 2.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

นอกจากนี้ร่างสัญญาใหม่กำหนดให้ 3.ภาครัฐจะชำระเงินร่วมลงทุนราว 120,000 ล้านบาท ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีเงื่อนไขว่าภาครัฐจะชำระเงินให้เอกชนได้ต่อเมื่อมีการเปิดให้บริการโครงการฯ

หลังจากนั้นภาครัฐจะทยอยชำระเงินค่าก่อสร้างให้ภาคเอกชนเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21 จากเดิมที่จ่ายเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จหรือในปีที่ 6 โดยมีการลดระยะเวลาที่รัฐจ่ายค่าก่อสร้างจาก 10 ปี เป็น 7 ปี ซึ่งภาคเอกชนจะลดผลตอบแทนโครงการไม่เกิน 5% เพื่อให้เอกชนมีแรงจูงใจในการก่อสร้างโครงการฯให้แล้วเสร็จ 

ไทม์ไลน์ไฮสปีด