พาณิชย์ ย้ำคกก.ทุ่มตลาดโปร่งใสกรณีทบทวนADเหล็ก

22 ก.พ. 2566 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2566 | 10:50 น.

พาณิชย์ ย้ำคณะกรรมการทุ่มตลาดฯ พิจารณาผลAD เหล็กแผ่นรีดเย็นชุบ สังกะสี จากเวียดนาม และแผ่นเหล็กรีดร้อนจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี เป็นกลาง โปร่งใส

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) มีหลักการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณะตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งกระบวนการพิจารณามาตรการฯ ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนภายใต้ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

โดยในส่วนของการทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการฯ ตามมาตรา 57 มีหลักเกณฑ์พิจารณาข้อมูลที่เป็นจริง 5 ข้อ คือ 1.ราคาที่แสดงการทุ่มตลาด (ราคาส่งออกมาไทยต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศที่ถูกกล่าวหา 2. ความเสียหายที่เกิดกับอุตสาหกรรมภายใน ได้แก่ ปริมาณการนำเข้า ผลกระทบด้านราคา (เช่น การตัดราคา กดราคา และยับยั้งการขึ้นราคา 3. ผลกระทบที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน 15 ปัจจัย

 

เช่น กำไร/ขาดทุน ผลผลิต ปริมาณขายในประเทศ ส่วนแบ่งตลาด อัตราการเจริญเติบโต เป็นต้น 4. ศักยภาพในการผลิตและโอกาสการส่งออกของประเทศที่ถูกกล่าวหามายังประเทศไทย และ 5. ผลกระทบที่อาจเกิดต่อส่วนภาคอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคบริการ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้เหล็กเป็นต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผ่านไปยังอัตราค่าครองชีพของผู้บริโภคภายในประเทศ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมและวิเคราะห์เพื่อประกอบการประเมินความเป็นไปได้ในการทุ่มตลาด และความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในว่าจะเกิดขึ้นต่อไปหรือฟื้นคืนกลับมาอีก รวมทั้งต้นทุนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

พาณิชย์ ย้ำคกก.ทุ่มตลาดโปร่งใสกรณีทบทวนADเหล็ก

“คณะกรรมการ ทตอ. ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ อาทิ เศรษฐศาสตร์ บัญชี นิติศาสตร์ และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเป็นอิสระในการพิจารณาและตัดสินใจ จนได้ผลการวินิจฉัยอันเป็นมติของคณะกรรมการ ทตอ. ทั้งคณะ โดยไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์หรือ/โดยกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง”

ทั้งนี้ในฐานะเป็นฝ่ายเลขาฯ ทตอ. กรณีหากผลการทบทวนฯ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ปรากฏว่าให้ยุติมาตรการฯ กรมฯ ได้กำหนดแนวทางใหม่ที่จะดำเนินการ 2 แนวทาง คือแจ้งด่วนต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อตักเตือนไม่ให้มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดมายังประเทศไทยอีก และกรมฯ จะเฝ้าติดตามการนำเข้าสินค้าจากประเทศต้นทาง หากมีพฤติกรรมที่ส่อแนวโน้มการทุ่มตลาดมายังประเทศไทย

กรมฯ จะดำเนินการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดทันทีหากภาคเอกชนมีความล่าช้าในการยื่นคำขอเปิดไต่สวน และจะเร่งกระบวนการไต่สวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อการใช้มาตรการฯ ให้ทันท่วงที ยิ่งกว่านั้นกรมฯ จะขึ้นบัญชีดำว่าประเทศผู้ส่งออกดังกล่าวมีพฤติกรรมการทุ่มตลาดกลับมาอีกเป็นรอบที่สอง เพื่อนำบัญชีดำนี้มาใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพิจารณาทบทวนมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ทตอ. เมื่อการใช้มาตรการฯ ผ่านพ้นกรอบเวลาที่กำหนด