ข่าวดี!อินเดียยุติเก็บADสินค้ายางSBRไทย

11 พ.ย. 2565 | 15:13 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2565 | 22:18 น.
516

คต. แจ้งข่าวดี อินเดียเลิกใช้มาตรการ AD สินค้ายางสไตรีนบิวตาไดอีน หรือ ยาง SBR จากไทยส่งผลให้เป็นปัจจัยบวกหนุนการส่งออก

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียได้ประกาศยุติการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) กับสินค้ายาง SBR จากไทย ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งออกไปยังอินเดียได้ตามปกติโดยไม่ถูกเก็บอากร AD อีกต่อไป หลังจากที่อินเดียใช้มาตรการ AD กับสินค้ายาง SBR จากไทย ตั้งแต่ปี 2560 ล่าสุ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 รัฐบาลกลางอินเดียมีคำวินิจฉัย ไม่ต่ออายุการใช้มาตรการ AD กับสินค้ายาง SBR จากสหภาพยุโรป เกาหลีใต้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)

และไทยส่งผลให้ผลการพิจารณาไม่ต่ออายุมาตรการ AD ดังกล่าวนับเป็นข่าวดีกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้ายาง SBR ของไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอินเดียโดยไม่ต้องมีภาระชำระค่าอากร AD ในอัตรา 243.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นและสามารถกลับมาแข่งขันในตลาดประเทศอินเดียได้อีกครั้ง

 

โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดส่งออกอินเดีย เช่น รัสเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ถูกใช้มาตรการ AD อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ผู้ส่งออกไทยควบคุมและติดตามราคาส่งออกของตนเองอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขายส่งออกในราคาทุ่มตลาด ซึ่งอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมภายในของอินเดียยื่นคำขอให้เปิดการไต่สวน AD อีกครั้งได้

ข่าวดี!อินเดียยุติเก็บADสินค้ายางSBRไทย

สำหรับสินค้ายาง SBR ถูกนำไปใช้ในการผลิตสายพาน พื้นรองเท้า ฉนวนหุ้มสายไฟ ท่อยาง ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ และบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น ในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลก 208.43 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ  6,639.36 ล้านบาท และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – สิงหาคม) ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลก 140.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ  4,823.71 ล้านบาท และอินเดียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 53.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 507.20 ล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกันอินเดียนำเข้ายาง SBR จากไทยเป็นลำดับ 5

 

“ในการดำเนินการแก้ต่างกรณีที่ไทยถูกไต่สวนมาตรการ AD จากประเทศคู่ค้า กรมการค้าต่างประเทศมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ส่งออกของไทย ทั้งการติดตามและประสานงานให้ทราบความคืบหน้าต่างๆ อย่างใกล้ชิด ตลอดจนการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในกระบวนการไต่สวน เพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ส่งออกไทยอย่างเต็มที่”