AD เหล็ก: วัดกึ๋นคนคุมนโยบาย

22 ก.พ. 2566 | 10:41 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2566 | 14:24 น.
514

งง … สิครับ ที่ได้เห็นข่าวว่ากรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประกาศว่าคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดฯ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2366 มีมติให้ยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ Anti-Dumping (AD) สินค้าเหล็กจากประเทศทุ่มตลาดใหญ่ของโลก

ซึ่งมีท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานเอง ที่ผมแปลกใจเพราะภาพที่ผมมองท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมานั้น ท่านละเอียดละออในรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดการค้าเสรีที่อาจจะมีผลกระทบกับคนไทยในทุกภาคส่วน และในทุกมิติ 

ผมจำได้ดีว่าเมื่อต้นปีที่แล้ว ในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP ที่แม้ว่าหลาย ๆ ฝ่ายมองว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศในภาพรวม แต่มีกลุ่ม NGO ออกมาท้วงว่าอาจกระทบกับเกษตรกร เท่านั้นเองท่านจุรินทร์ของผมก็ดึง CPTPP ออกมาจาก ครม. ถอยมาตั้งหลัก และสั่งการให้ลูกน้องดูให้ชัด ๆ แน่ใจว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จริง ๆ และคนที่ได้รับผลกระทบต้องเตรียมการดูแล เยียวยา และทำความเข้าใจให้ถ้วนแท้ ก่อนเดินหน้า ซึ่งจนถึงวันนี้ ยังไม่ไปไหน  

แต่พอถึงเรื่อง การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ของเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ใช้ในการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมาหลายปี จากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เช่น ตุรกี บราซิล อิหร่าน  และเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบโลหะเจือของอลูมิเนียม (GL) จากเวียดนาม 

ท่านกลับเห็นชอบตามข้อเสนอของกรมการค้าต่างประเทศที่จะไม่ต่อมาตรการดังกล่าว และคาดว่ามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศคือจีน และมาเลเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ด้วย ก็คงเป็นแบบเดิม คือ ไม่ต่อการใช้มาตรการดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่จีนเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กใหญ่ที่สุดของโลก

ผมพยายามเข้าใจถึงหลักการของการค้าเสรี หากตอบแบบง่าย ๆ พื้น ๆ ไม่คิดอะไรลึกซึ้ง ก็จะเห็นว่าการค้าเสรีน่าจะดีกับทุกฝ่าย ทุกประเทศ เพราะประเทศที่ทำอะไรดี ต้นทุนถูก ก็ทำสิ่งนั้นไป ต่างประเทศต่างทำ แล้วพอเอาแลกเปลี่ยนกัน ผู้บริโภคก็จะแฮปปี้ที่ได้ของดี ของถูก และโลกนี้ก็จะใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

แต่ในโลกความเป็นจริงไม่ได้สวยงามอย่างที่ทฤษฎีบอกไว้ เพราะทุกประเทศมีสภาพเศรษฐกิจ ผู้คน และทรัพยากรต่างกัน มีเรื่องที่ต้องดูแลหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องห่วงใย ตั้งแต่ วัฒนธรรม การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การเป็นเจ้าธุรกิจของผู้คนในประเทศ 

และที่สำคัญคือความมั่นคงระยะยาวในทุกเรื่อง ดังนั้น เราจึงเห็นแต่ละประเทศมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศตนเองออกมามากมาย ถึงแม้ว่ากระแสการค้าเสรีจะลดภาษีศุลกากรลงก็ตาม ดังนั้นคำว่า Non-Tariff Barriers (NTBs) to Trade หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากรจึงกลายเป็นสิ่งปกติในโลกปัจจุบัน 

กลับมาเรื่องอุตสาหกรรมเหล็กอีกที ผมเคยบ่นแบบหงุดหงิดปนรำคาญว่าประเทศไทยฝันที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ยานยนต์ เครื่องจักร อื่น ๆ สารพัดที่ต้องใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบสำคัญ แต่เราไม่พยายามมากพอที่จะสร้างโรงถลุงเหล็กต้นน้ำในประเทศ ซึ่งอย่าคิดนะครับว่า เราซื้อเหล็กจากบ้านเขามาเพิ่มมูลค่าก็ได้ ถ้าใครคิดแบบนี้ต้องตีมือละครับ เพราะไม่มีใครขายเหล็กต้นน้ำให้เราแบบดิบ ๆ นอกจากเพิ่มมูลค่ามาแล้วทั้งนั้น 

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวียดนาม อินโดนีเซีย กลับมีอุตสาหกรรมต้นน้ำ คนละสองโรงป้อนอุตสาหกรรมในประเทศตนเอง แถมยังเหลือส่งออกมาบ้านเราอีก

แต่อุตสาหกรรมเหล็กของเราก็ยังดิ้นรนและกัดฟันสร้างตัวเองแทรกเข้าไปในห่วงโซ่อุปทานใกล้ต้นน้ำได้บ้าง ไม่ว่าจะรีดร้อน และรีดเย็นเคลือบอลูมิเนียม และอื่น ๆ ทำให้มูลค่าเพิ่มส่วนนี้เกิดขึ้นในประเทศได้บ้าง 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดต่ออุตสาหกรรมของไทยในการผลิตเหล็กเหล่านี้ในประเทศ ก็คือ ความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบในประเทศให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตั้งแต่ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องกล ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างอื่น ๆ อีกสารพัดสารพัน
อยากให้เรามองภาพทั้งโลกว่าวันนี้ประเทศต่าง ๆ กำลังใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของตนเองแบบสุด ๆ

และจากตัวเลขขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ล่าสุดในปี 2566 พบว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าพ่อการค้าเสรีใช้มาตรการ AD 188 รายการ แคนาดา และ อียู ใช้ 43 และ 41 รายการ และประเทศจีน ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกและต้นทุนก็ถือว่าได้เปรียบสุด ๆ ก็ยังใช้มาตรการ AD ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็ก 11 รายการของเขา 

และประเทศที่ถูกใช้มากที่สุดในโลกตอนนี้ก็คือผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกทั้งนั้น อาทิ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย บราซิล ญี่ปุ่น ใต้หวัน ฯลฯ ดังนั้นผู้ผลิตยักษ์ใหญ่เหล่านี้ต้องวิ่งหาตลาดเพื่อระบายสินค้าเหล็กของตนเอง ผมนึกภาพไม่ออกกับอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศเราจะเป็นอย่างไรถ้าท่านรัฐมนตรีจุรินทร์ยังยืนยันมติเดิมที่ลูกน้องท่านเสนอมา  

ผมไม่อยากให้ท่านคิดว่า การยกเลิกมาตรการนี้จะดี มีประโยชน์กับผู้ใช้เหล็กรีดร้อนรีดเย็นในประเทศที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพราะการยกเลิก AD จะทำให้ราคานำเข้าจะถูกลงในระยะสั้น ๆ เพราะประเทศผู้ขายจะลดราคา แต่จากที่ดูแล้ว ปรากฏว่าผู้ใช้ในประเทศกลับเป็นห่วงความมั่นคงในระยะยาวมากกว่าผลระยะสั้น 

ทั้งนี้เป็นเพราะเขามองว่า หากไม่มี AD แล้ว มีโอกาสสูงมากที่ผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนรีดเย็นในประเทศจะล้มหายตายจากไป และที่นี้ความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่ขาดสะบั้นจะทำร้ายเขามากกว่าเดิม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศของเราก็ไม่มีอะไรมาคานอำนาจการต่อรองกับประเทศผู้ผลิตเหล็กต่างประเทศได้เลย

 ซึ่งตอนนี้ผมว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเหล็กตั้งแต่ผู้ผลิตและผู้ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องพูดคุยเรื่องนี้แล้ว เพราะเขามองว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เป็นการลงทุนทั้งชีวิตของเขา มองยาว ๆ ไกล ๆ ไม่ใช่แค่ 4 ปีเหมือนอายุรัฐบาล 

เรื่องนี้ ผลสุดท้ายเป็นการวัดความยาวและไกลในวิสัยทัศน์ของคนกำหนดนโยบาย ส่วนคนทำงานในระดับปฏิบัติงาน ผมเข้าใจเขาดีว่าคงมองทุกมุมในบริบท กรอบ ในจุดที่เขายืน และการเป็นผู้รักในการค้าเสรี เท่ห์จะตายไป ในเวทีการค้าต่างประเทศ …. แต่คนคุมนโยบาย ต้องมองยาวและไกลกว่านี้ …. ครับ