ส่อง “ค้าปลีก-ค้าส่ง” ขยายตัว K shape ชูเทคโนโลยี ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย

27 ม.ค. 2566 | 17:04 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2566 | 17:23 น.
714

กูรูค้าปลีกชี้แนวโน้มค้าปลีกค้าส่งปี 2566 ขยายตัวแบบ K shape จับตาโมเดลขาขึ้นทั้งห้าง แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ สุขภาพ ส่วนขาลงตกอยู่ที่ไฮเปอร์มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต แนะหันใช้เทคโนโลยี ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย

อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง ถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ต่อจากภาคการผลิต ส่งออกและการท่องเที่ยว การเติบโตของภาคค้าปลีกค้าส่งจึงมีผลต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ที่ต่างประเมินว่า ภาคค้าปลีกค้าส่งจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ชะลอตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์  นักวิชาการด้านค้าปลีก กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มค้าปลีกค้าส่งและบริการในปี 2566 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องไปกับทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยในปีนี้คาดว่าตลาดค้าปลีกค้าส่งและบริการจะขยายตัวราว 2.8% -6.6% (YoY) ตามรูปทรงของ K shape ที่ขยายตัวแบบไม่สมดุล  ส่วนที่อยู่บนทิศทาง K ขาขึ้นอาจจะขยายตัวได้ 6.6 % ในขณะที่อยู่บน K ขาลงอาจจะเติบโตเฉลี่ย 2.8%

ส่อง “ค้าปลีก-ค้าส่ง” ขยายตัว K shape ชูเทคโนโลยี ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย

โดยร้านค้าที่ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ห้างสรรพสินค้า แฟชั่นความงาม ไลฟ์สไตล์ สุขภาพและความงาม ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงร้านสะดวกซื้อในเมืองท่องเที่ยว ขณะที่ภาคบริการ ภัตตาคาร ร้านอาหารจะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศเป็นหลัก ส่วนร้านค้าที่ยังไม่ฟื้นตัวและมีทิศทางขาลงต่อเนื่อง คือ ไฮเปอร์มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เพราะเป็นกลุ่มฐานกลางลงล่าง กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และต้องพึ่งมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก

ขณะที่การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index : RSI) พบว่า ในไตรมาส 1/2566 ดัชนี RSI กลับลดลง สวนทางกับไตรมาสนี้ที่เป็นไฮซีซัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการจับจ่ายและการท่องเที่ยว สะท้อนถึงความกังวลในหลายด้าน ทั้งเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ความไม่ชัดเจนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังคงสูง กำลังซื้อที่อ่อนแอ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และกังวลว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้

ส่อง “ค้าปลีก-ค้าส่ง” ขยายตัว K shape ชูเทคโนโลยี ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการค้าปลีกยังเชื่อมั่นว่าในปี 2566  เศรษฐกิจโดยรวมจะยังมีการขยายตัวถึง 62%  โดย 41% ตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% และ 37% ตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 5-10% ขณะที่คาดการรายได้เข้าสู่ภาวะปกติ จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2/2566 ราว 24% แต่ 30% คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2567 บ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนมากยังมีความกังวลสูง โดยเฉพาะเรื่องของ ต้นทุนสูงขึ้น, กำลังซื้อเปราะบาง, เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและนักท่องเที่ยวมาต่ำกว่าที่คาด และมาตรการรัฐที่ทยอยหมดลง

ดร.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า แม้แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจะมีการขยายตัวต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ลบภาพเดิม และเรื่องของเทคโนโลยีและความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งในเรื่องของ Digitalization ซึ่งทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันกับการค้าในรูปแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เนื่องจากตลาดค้าปลีกค้าส่งและบริการในปัจจุบันและต่อไป จะเป็นตลาดของผู้บริโภค ซึ่งสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สินค้าและบริการมีการหมุนเวียนเร็วขึ้น SPEED จึงเป็นคำตอบการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ดีมานด์ความรวดเร็ว

อีกกลยุทธ์ที่มีความสำคัญคือ Collaboration Business Model การหาพันธมิตรร่วมมือกันทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจที่นับวันจะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม การร่วมมือช่วยเหลือและพึ่งพากันเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงและผลกำไรของธุรกิจระหว่างกันซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจโดยรวม และ BCG Economy เทรนของธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักรับรู้และปฏิบัติรวมถึงวางเป้าหมายในการทำธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งจะส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์

ขณะที่บทบาทของ Retail Technology ที่น่าจับตามอง มีทั้ง Smart & Automation เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้ซื้ออาหาร ตู้ขายอาหารสัตว์ สารพัดตู้อัตโนมัติ เป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ดีมาก ขายของได้ 24 ชั่วโมง, Smart Shopping Cart รถเข็นสินค้าอัจฉริยะ ประกอบด้วยเครื่องมือในการสแกนบาร์โค้ด หรือ คิวอาร์โค้ด ที่แคชเชียร์ใช้กัน ตรวจสอบราคา สแกนดูข้อมูลสินค้าจนถึง, เทคโนโลยี Face gesture recognition การรับรู้ตัวตนผ่านการสแกนใบหน้า Real-Time customer tracking and analytics ระบบติดตามการเคลื่อนไหวลูกค้าเพื่อจะได้รู้ว่าทำเลในร้านค้าจุดใดได้รับความนิยม 

Mobile engagement เชื่อมต่อทุกสิ่งบนมือถือ หาข้อมูล จนถึง ชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตหรือกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิก E-Wallet Automation Beacon checkout การชำระค่าสินค้าอัตโนมัติโดยไม่ต้องผ่านเคาน์เตอร์แคชเชียร์  Technology Metaverse เมื่อลูกค้าไม่มาหน้าร้าน ก็ไปหาลูกค้าที่บ้าน เทคโนโลยี Virtual Makeup เริ่มมีให้เห็นกันอย่างแพร่หลายในร้านแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำ, Smart mirror กระจกอัจฉริยะให้ภาพการลองเสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายเสมือนจริงราวกับได้ลองเอง รองเท้า ที่ลูกค้าสามารถทดลองแบบเสมือนจริงผ่านแอป AI จากที่บ้าน เพิ่มโอกาสตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

Technology AI จะช่วยค้าปลีกประเมินความต้องการของตลาด ยอดขายให้ “แม่นยำ” ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การหาสินค้า ประเภท หมวดหมู่มาเติมในร้าน เป็นอีกหัวใจสำคัญค้าขาย หากใช้เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ ประมวลผล จะทำให้รู้ว่าสินค้าไหนจะขายดี หรือขายราคาเท่าไหร่ ช่วยบริหารสต๊อก โดยเฉพาะสินค้าสด เพื่อป้องกันการสูญเสีย หรือไม่เพียงพอต่อการขาย

สิ่งเหล่านี้ เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ป้ายราคา ESL เป็นการเปลี่ยนจากป้ายกระดาษสู่ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Shelf Label) หลากหลายขนาด รวมกว่า 8,000 ชิ้น ซึ่งควบคุมการสั่งงานผ่านส่วนกลาง เชื่อมโยงข้อมูลกับสินค้า รายละเอียด โปรโมชั่น ตำแหน่งจัดวาง ช่วยลดปัญหาราคาไม่ตรงป้ายและลดขยะจากป้ายกระดาษ ทั้งยังสามารถเปลี่ยนราคาสินค้าได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 40 วินาที 

Technology Cloud เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจกลุ่มค้าปลีก ลดค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานไอที กระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ให้ประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีที่สุดกับลูกค้าผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถเสนอสินค้า และบริการผ่านออนไลน์ได้อย่างน่าเชื่อถือและไม่ขาดตอน

ภาพใหม่ของค้าปลีกค้าส่งที่จะเห็นในอนาคต  เริ่มฉายแววให้เห็นแล้วในวันนี้ และหากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว ย่อมตกขบวนแน่นอน

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,856 วันที่ 26 - 28 มกราคม พ.ศ. 2566