4 ปัจจัยฉุด “ดัชนีค้าปลีก” ไตรมาส 1/66 ลด

19 ม.ค. 2566 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 16:31 น.

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีกไตรมาส 1/2566 มีแนวโน้มลดลง ชี้สาเหตุจากเงินเฟ้อ กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือน มาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่ทยอยหมดลง

ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนธันวาคม 2565 พบว่า เพิ่มขึ้นเพียง 7.2 จุด จากปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวของช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการเน้นชูกลยุทธ์อัดแคมเปญส่งเสริมการขายอย่างหนัก รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการโควิดและเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

 

ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิม (SSSG) , ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending Per Bill หรือ Per Basket Size) และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency) ปรับเพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาตามประเภทร้านค้า พบว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการร้านค้าประเภทภัตตาคาร ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ปรับเพิ่มขึ้น

4 ปัจจัยฉุด “ดัชนีค้าปลีก” ไตรมาส 1/66 ลด

ขณะที่ร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีความเชื่อมั่นลดลงหลังมีการเร่งซื้อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทางด้านดัชนี RSI ใน 3 เดือนจากนี้ (ม.ค.-มี.ค.) มีแนวโน้มปรับลดลง แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 จากปัจจัยกดดันทั้งภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูง กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือน มาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐที่ทยอยหมดลง แนวโน้มต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นทั้งจากค่าวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

 

ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีลักษณะไม่สมดุล ( K-shape Recovery) สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยธุรกิจ 30% ยังไม่ฟื้นตัวและคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในปี 2567 ในขณะที่ 11% ฟื้นตัวแล้วในปี 2565 ส่วนที่เหลือคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวและขยายตัวได้ในปี 2566

 

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมมีความเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่จะเข้ามาอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจต้องมีความหลากหลาย ตรงเป้าหมาย ไม่ซับซ้อน เน้นการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภคฐานรากที่ยังอ่อนแอเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย

4 ปัจจัยฉุด “ดัชนีค้าปลีก” ไตรมาส 1/66 ลด

ขณะที่ผู้บริโภคระดับบน, ผู้มีรายได้ประจำที่มีกำลังซื้อต้องใช้มาตรการต่างชุดกัน โดยเน้นย้ำว่ารัฐต้องคลอดมาตรการที่ต่อเนื่องและระยะยาวจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจที่ชัดเจน

 

การประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก  ของผู้ประกอบการที่สำรวจระหว่างวันที่ 18-24 ธ.ค.65 มีดังนี้

 

1. ประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมในไตรมาสที่ 4 ปี 65 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อนหน้า โดยธุรกิจมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และธุรกิจ 57% มีสภาพคล่องเพียงพอมากกว่า 12 เดือน

62 %  ของผู้ประกอบการ ระบุว่า ธุรกิจขยายตัว

5 %    ของผู้ประกอบการ ระบุว่า ธุรกิจทรงตัว

33 %  ของผู้ประกอบการ ระบุว่า ธุรกิจหดตัว

4 ปัจจัยฉุด “ดัชนีค้าปลีก” ไตรมาส 1/66 ลด

2.  ประเมินเป้าหมายยอดขาย ปี 2566 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตั้งเป้ายอดขายปี 2566 เพิ่มขึ้นมากกว่า 5% และคาดว่ารายได้จะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดในปี 2567 และผู้ประกอบการ 22% (กลุ่ม 20% และ 2%) ตั้งเป้ายอดขายปี 66 ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ 5%

41% ตั้งเป้ายอดขาย มากกว่า 10%

37% ตั้งเป้ายอดขาย ระหว่าง 5 - 10%

20% ตั้งเป้ายอดขาย ระหว่าง 1 - 5%

2 %   ตั้งเป้ายอดขาย เท่าเดิม

 

3. ประเมินรายได้สู่ภาวะปกติของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการ 30% คาดว่าธุรกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติ ต้องใช้เวลาถึงปี 2567 ธุรกิจถึงเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด

11%  คาดเข้าสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่ปี 2565

11%  คาดเข้าสู่ภาวะปกติ Q1 2566

24%  คาดเข้าสู่ภาวะปกติ Q2 2566

11%  คาดเข้าสู่ภาวะปกติ Q3  2566

13%  คาดเข้าสู่ภาวะปกติ Q4  2566

30%  คาดเข้าสู่ภาวะปกติ  ปี 2567

 

4. ปัจจัยความกังวลที่มีต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในปี 2566

อันดับที่ 1  ต้นทุนสูงขึ้น

อันดับที่ 2  กำลังซื้อเปราะบาง

อันดับที่ 3  เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและนักท่องเที่ยวมาต่ำกว่าที่คาด

อันดับที่ 4  มาตรการรัฐที่ทยอยหมดลง

 

“ภาพรวมการค้าปลีกไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันหรือขาดสมดุล (K-Shaped Recovery) อีกทั้งต้องเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจอย่างน้อย 5 ลูก ประกอบด้วย 1. ภาวะเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยเพิ่มสูง 2. ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงที่เป็น ตัวฉุดการบริโภค 3. ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงต่อไป 4. การกลับมาระบาดของโควิด-19 5. การปรับเพิ่มของค่าแรง-แรงงานขาดแคลน

 

ซึ่งมรสุมเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่กำลังซื้อยังคงอ่อนแรง ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมความพร้อมในการรับมือ ถอดรหัสการทำธุรกิจด้วยการลงมือปฏิบัติทันที พร้อมนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนหรือ ESG เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ เพราะอนาคตของค้าปลีกไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าเราอาจไม่เห็นภาพค้าปลีกยุคเดิมอีกต่อไปแล้ว”