สุดช็อก! ผลต่างประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” พุ่ง 7.5 หมื่นล้าน

29 ธ.ค. 2565 | 16:23 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2565 | 23:29 น.
1.4 k

ดร.สามารถ จับพิรุธผลต่างประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” พุ่ง 7.5 หมื่นล้าน เหตุรฟม.เผยตัวเลขใหม่ หลังแจงผลประมูลรอบ 2 ทิ้งห่างกว่าเดิม หวั่นผลประโยชน์ประเทศชาติเสียหาย

 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า กรณีเงินสนับสนุนสุทธิในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 มากกว่าครั้งที่ 1 ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้อาจพุ่งขึ้นเป็น 7.5 หมื่นล้านบาทนั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 รฟม. แถลงข่าวผลการประมูลครั้งที่ 2 ว่า BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 78,287.95 ล้านบาท ผมได้เปรียบเทียบกับการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่ง BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 9,675.42 ล้านบาท พบว่าเงินสนับสนุนสุทธิที่ BEM ขอในการประมูลครั้งที่ 2 มากกว่าเงินสนับสนุนสุทธิที่ BTSC ขอในการประมูลครั้งที่ 1 ถึง 68,612.53 ล้านบาท แต่ต่อมา ในวันที่ 26 ธันวาคม 2565 รฟม. ชี้แจงผลการประมูลครั้งที่ 2 ระบุว่า BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 85,432 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขใหม่ ไม่เหมือนเดิม ไม่มีการชี้แจงว่า ทำไมเงินสนับสนุนสุทธิจึงเปลี่ยนไป ทำให้ผลต่างเงินสนับสนุนสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 75,756.58 ล้านบาท

 

“เดิมเราแทบล้มทั้งยืนเมื่อรู้ว่า การประมูลครั้งที่ 2 มีเงินสนับสนุนสุทธิมากกว่าครั้งที่ 1 ถึง 68,612.53 ล้านบาท มาบัดนี้ถ้าผลต่างพุ่งขึ้นเป็น 75,756.58 ล้านบาท เราจะไม่ช็อกจนหมดสติกันหรือครับ ซึ่งข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง” 

ทั้งนี้การประมูลครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล และในที่สุดได้ล้มประมูล 


ขณะเดียวกันการประมูลครั้งที่ 1 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ 2. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แม้การประมูลครั้งที่ 1 จะถูกล้มไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อไม่นานมานี้ BTSC ได้ขอเอกสารที่ยื่นประมูลคืนจาก รฟม. และได้เปิดซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ต่อหน้าสื่อมวลชน พบว่า BTSC ได้เสนอเงินตอบแทนให้ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท เป็นผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิ (เงินที่ รฟม. ต้องสนับสนุน หักด้วย เงินตอบแทนที่ รฟม. ได้รับ) แก่ BTSC 9,675.42 ล้านบาท (79,820.40-70,144.98) 
 

ส่วนการประมูลครั้งที่ 2 พบว่าหลังจากการประมูลครั้งที่ 1 ถูกล้มไปแล้ว รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ได้แก่ 1. BEM และ 2. ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี ส่วน BTSC ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ เพราะหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอไม่ได้ เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้นกว่าครั้งที่ 1

สุดช็อก! ผลต่างประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” พุ่ง 7.5 หมื่นล้าน

ที่ผ่านมา BTSC จะเปิดซองข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน ของตนเองนั้น รฟม. ได้เปิดซองดังกล่าวของ BEM และของ ITD Group พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิ (เงินที่ รฟม. ต้องสนับสนุน หักด้วย เงินตอบแทนที่ รฟม. ได้รับ) แก่ BEM 78,287.95 ล้านบาท และให้แก่ ITD Group 102,635.66 ล้านบาท ส่งผลให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจาก รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิน้อยกว่านั่นเอง แต่ รฟม. ไม่ได้เปิดเผยจำนวนเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้แก่ รฟม. และจำนวนเงินที่ BEM ขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม. เพียงแต่เปิดเผยจำนวนเงินที่ รฟม. จะต้องสนับสนุนสุทธิเท่านั้น

 

ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า  เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ล้มประมูลครั้งที่ 1 BTSC จะคว้าชัย โดยการประมูลครั้งที่ 1 ไม่มีการเปิดเผยว่า BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิเท่าไหร่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลครั้งที่ 2 ซึ่ง BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 78,287.95 ล้านบาท โดยที่แบบการก่อสร้างยังเหมือนเดิม ราคากลางค่าก่อสร้างก็ยังเท่าเดิม อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่ง BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิสูงกว่า BTSC นับแสนล้านบาท ทำให้เกิดคำถามดังนี้ 

 

1. ในการประมูลครั้งที่ 1 เป็นไปได้หรือไม่  ที่ BEM จะขอรับเงินสนับสนุนสุทธิต่ำกว่า BTSC ซึ่งขอ 9,6758.42 ล้านบาท


2. ในการประมูลครั้งที่ 1 เป็นไปได้หรือไม่  ที่ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ก่อสร้างและให้บริการเดินรถไฟฟ้าในเมืองไทย และโชกโชนกับการประมูลโครงการขนาดใหญ่ด้านขนส่งมาหลายโครงการ จะไม่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิค หากเป็นไปไม่ได้ กรณีไม่ล้มการประมูลครั้งที่ 1 อาจเป็นไปได้ที่ BTSC จะชนะการประมูล