ฝ่ายค้านยื่นป.ป.ช.ดำเนินคดี“นายกฯ-รมว.คมนาคม-พวก”ปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม

29 ธ.ค. 2565 | 13:28 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2565 | 20:47 น.

“พรรคร่วมฝ่ายค้าน”ยื่นป.ป.ช.ดำเนินคดี “นายกฯ-รมว.คมนาคม” และพวกฐานความผิดว่าด้วยฮั้วประมูล-ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริต กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ว่า วันนี้(29 ธ.ค.65) นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) พร้อมด้วย พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ

 

นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบการทุจริตของ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และพวก ในความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ(ฮั้วประมูล) ความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริต กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

 

ทั้งนี้หนังสือที่ฝ่ายค้านยื่นต่อ ป.ป.ช.ระบุว่า สัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุน 235,320 ล้านบาท ที่การประมูลรอบแรก เมื่อปี 2563 หากไม่ยกเลิก และ BTS ชนะการประมูล รัฐจะอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท

 

แต่ในการประมูลรอบสอง เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ซึ่ง BEM ชนะการประมูล รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ในทางเทคนิคก็คือ สร้างสิ่งเดียวกัน ข้อสงสัยในประเด็นของการทุจริต ที่รัฐต้องรับภาระแพงขึ้นประมาณ 68,612 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนมาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐในส่วนนี้ โดยพบพฤติกรรมมิชอบคือ


1. เดิมการประมูลในรอบแรกปี 2563 คกก.คัดเลือก และ รฟม. มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดผู้ชนะการประมูลจากจำนวนเงินที่ขอรับอุดหนุนจากรัฐบาล มาเป็นเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอการเงินร่วมกับเทคนิคในสัดส่วน 70:30 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้ตัดสินว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย


2. เมื่อปรากฏว่าศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์ที่แก้ไข จึงต้องกลับมาใช้หลักเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดจากจำนวนเงินที่ขอรับอุดหนุนจากรัฐบาล คกก.คัดเลือกและ รฟม. รีบประชุมยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 โดยไม่มีเหตุผลสมควร ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้ตัดสินว่าการยกเลิกประมูลนั้นใช้ ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย


3. ในการประมูลรอบใหม่ ปี 2565 คกก.คัดเลือกและ รฟม. กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอขึ้นใหม่ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้องานเลย ที่เปลี่ยนคือ คุณสมบัติผู้เสนอราคา โดยเพิ่มคุณสมบัติเดินรถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศไทยเท่านั้นมาจากต่างประเทศก็ได้ 


ส่วนคุณสมบัติผู้รับเหมาต้องมีผลงานตรงกับรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จเท่านั้น ไม่เป็นไปตามหลักการ International Competitive Bidding ทำให้ไม่สามารถมีผู้เข้าแข่งได้มากราย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 อีกทั้งมีการกีดกันไม่ให้ กลุ่ม BTS ซึ่งเคยสามารถเข้าเสนอราคาได้เพราะเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ประเทศไทยยาวนานประมาณ 23 ปี กลายเป็นผู้ไม่ให้มีสิทธิ์เข้าประมูลรอบใหม่ เพราะขาดคุณสมบัติต้องห้ามด้านการรับเหมา ไม่สามารถเข้าร่วมการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ ทำให้การประมูลใหม่ปี 2565 นี้ไม่เกิดการแข่งขันราคาอย่างธรรมและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคาเฉพาะราย


4. กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ให้กลุ่ม ITD ที่เข้าประมูล ประธานบริหารและกรรมการ ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ขัดพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 33 ไม่อาจผ่านคุณสมบัติได้ (การที่กลุ่ม ITD เข้ามาจึงเข้าลักษณะเป็นเพียงจัดให้เป็นคู่เทียบ) 

                    ฝ่ายค้านยื่นป.ป.ช.ดำเนินคดี“นายกฯ-รมว.คมนาคม-พวก”ปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ดังนั้น ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้เอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว ไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน แต่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ดันทุรังให้บริษัท ITD ผ่านทั้งเกณฑ์คุณสมบัติ และเทคนิค แม้จะมีเสียงทักท้วงถึงความไม่ถูกต้อง 


จึงมองได้อย่างเดียวว่า มีเจตนาเคลือบแฝง คือต้องการให้มีผู้ผ่านเกณฑ์มากกว่า 1 ราย เพื่อเปิดซองราคา เป็นคู่เทียบ แท้จริงแล้วการประมูลครั้งนี้ ไม่มีการแข่งขัน เพราะผู้เสนอราคามีได้แค่รายเดียวคือ BEM ซึ่งเสนองานแพงกว่ากลุ่ม BTS ที่เสนอราคาครั้งที่ 1 มากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินเพิ่มถึง 6.8 หมื่นล้านบาท


5. ตามมาตรา 10 พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 “เจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติการพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่า ควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น มีความผิดฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท”


ดังนั้นการกระทำของ คกก.คัดเลือกตามมาตรา 36 ของ พรบ. ร่วมลงทุน 2562 (ซึ่งมีนายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่า รฟม. เป็นประธาน) : ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการสายสีส้มทั้งหมดตามมาตรา 38 ของ พรบ.ร่วมลงทุน 2562


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ต้องพิจารณาผลการคัดเลือกและร่างสัญญาเอกชนร่วมลงทุน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 20(10) เรียกให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ดำเนินโครงการร่วมลงทุนเข้าชี้แจง ให้ความเห็น หรือจะส่งข้อมูล หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการร่วมลงทุน 


แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งสอง ที่จงใจละเว้นไม่ดำเนินการตรวจสอบ หรือ หยุดยั้ง การกระทำอันผิดต่อกฎหมาย ของ คณะกรรมการคัดเลือก ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ใดซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ แจ้งชัดว่า ควรรู้ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้น

 

มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ละเว้นไม่ดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคา มีความผิดฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามมาตรา 10 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กับความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พรป. ปปช.มาตรา 172


จึงมายื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการ ไต่สวนและมีความเห็น กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

และคณะกรรมการคัดเลือกที่จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ต้องช่วยกันขจัดอันตราย ที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผู้ที่ชี้การชี้เบาะแส รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครอง (ตามมาตรา 63) และหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

                    ฝ่ายค้านยื่นป.ป.ช.ดำเนินคดี“นายกฯ-รมว.คมนาคม-พวก”ปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม    ฝ่ายค้านยื่นป.ป.ช.ดำเนินคดี“นายกฯ-รมว.คมนาคม-พวก”ปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม    ฝ่ายค้านยื่นป.ป.ช.ดำเนินคดี“นายกฯ-รมว.คมนาคม-พวก”ปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม