รัฐบาลทิ้งทวนบิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน โค้งท้ายรับเลือกตั้ง

08 ธ.ค. 2565 | 06:02 น.
2.1 k

จับตารัฐบาลเร่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน   คมนาคม ทิ้งทวนก่อนยุบสภาเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ดันสายสีส้ม-ดอนเมืองเฟส 3 - ขยายสุวรรณภูมิ -รถไฟทางคู่ พร้อม วางขุนพล ตัวเต็ง คุมทอท.  สานต่อโครงการ

นับถอยหลังวาระรัฐบาล เดินหน้าเข้าสู่ โหมดการเลือกตั้ง หลายหน่วยงานเร่งอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่คั่งค้าง ที่พรรคฝ่ายค้าน จับตาว่าจะเป็นปัจจัยสั่งสมพลัง ชิงความได้เปรียบทางการเมืองโดยเฉพาะ กระทรวงคมนาคม นอกจากจะได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2566 ในสัดส่วนที่สูงและกระจุกตัวบางพื้นที่แล้ว ยังมีหลายโครงการ มีลักษณะการประมูลโครงการ อาจส่อไปในทางผิดปกติ

 

เริ่มจากโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม มีความพยายามผลักดัน ผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้ แบบไม่สนเสียงค้าน เพื่อต้องการลงนามสัญญาก่อสร้าง ทิ้งปมส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท อาจทำให้รัฐเสียหายให้หลายฝ่ายกังขา กรณีการขอรับสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างต่างกันมหาศาล ระหว่างการประมูลรอบแรกและรอบที่สอง

 

จากสายสีส้มถึงสนามบิน

              

ไม่เพียงเท่านั้นยังจับตามีความพยายามผลักดันโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนราว 36,829 ล้านบาท ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ ทอท. (AOT) ซึ่งผ่าน ความเห็นชอบครม. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างผู้บริหาร ทอท.คนสำคัญ จะหมดวาระลงในเดือนเมษายน ปี 2566

 

พร้อมทั้ง สรรหาผู้บริหารทอท.คนใหม่ ซึ่งจ่อมาจากคนนอก หรือเคยเป็นที่ปรึกษาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อคุมการก่อสร้าง สนามบินดอนเมือง เฟส 3 รวมถึงการพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ระยะที่ 2 และทำหน้าที่สานโครงการสำคัญ แม้จะมีกระแสการต่อต้านกระแสคนนอกก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหว จากคนในวิทยุการบินว่า มีการวางคนเพื่อควบคุมแผนพัฒนาโครงการ ในอนาคต ขณะการพัฒนาระบบ M-Flow ไร้ไม้กั้น ผ่านก่อนจ่ายมีกระแสว่า อาจจะเป็นของคนการเมือง ฯลฯ

 

ตัวเต็งคุมทอท. ที่ปรึกษาสายสีส้ม

 

รายงานข่าวจากทอท.อธิบายว่า กรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จะหมดวาระเมษายน ปี2566 โดยหลังจากนั้นจะต้องสรรหาผู้บริหารคนใหม่มาแทนนั้น เบื้องต้นมี 2 รายชื่อที่เป็นตัวเต็ง ประกอบด้วย 1.กิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ได้รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 อดีตลูกหม้อทอท.ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 1) หรือทสภ.

              

2.กีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) ที่ คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.มีมติเห็นชอบวาระลับให้นายกีรติ ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 โดยให้ทดลองงานเป็นเวลา 120 วัน

หากผ่านเกณฑ์การประเมินจะได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างของทอท.เพื่อดูแลโครงการก่อสร้างสนามบิน อีกหลายแห่งทั้งปัจจุบันและอนาคต

 

ท่ามกลางเสียงคัดค้านในขณะนั้นที่ว่านายกีรติ เป็นคนนอก เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหารบริษัทพีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ซึ่งทำงานเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย

 

เช่น โครงการระบบตั๋วร่วม,โครงการจัดทำผังเมืองบุรีรัมย์,โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟฯ, โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ,โครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต,โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฯลฯ

              

“พนักงานทอท.ส่วนใหญ่มีการพูดถึงการแต่งตั้งนายกีรติ ซึ่งเป็นคนนอก เข้ามาเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เนื่องจากทอท.มีพนักงานระดับ 10 ที่พร้อมขึ้นตำแหน่งดังกล่าวหลายท่าน แต่ไม่มีการพิจารณาคัดเลือกคนใน”

 

ด้านนายกีรติ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. กล่าวว่า สำหรับการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่นั้น มีความสนใจ แต่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะลงสมัครหรือไม่

              

ทั้งนี้การสรรหาตำแหน่งฯลฯ จะปิดรับสมัครถึงวันที่ 13 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะมีการเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ภายในเดือนมกราคม 2566 คาดว่าจะประกาศผู้ชนะที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ก่อนเดือนเมษายน 2566

 

คุมขุมทรัพย์แสนล้าน

              

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่จะต้องเข้ามาพัฒนามีหลายโครงการ เช่น

  1. การยก 3 ท่าอากาศยาน คือ อุดรธานี ,บุรีรัมย์ และกระบี่ ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหารจัดการแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.)
  2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ สอง
  3. แผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ สอง
  4. พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ5.โครงการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ฯลฯ

              

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่ ของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องเร่งรัดประมูลงาน แหล่งข่าวจากผู้รับเหมา ระบุว่า ช่วงก่อนการเลือกตั้ง กระทรวงคมนาคมจะเร่งอนุมัติโครงการเพื่อผูกพันงบประมาณ โครงการ 70-80% ของโครงการทั้งหมด ทั้ง โครงข่ายถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ฯลฯ ซึ่งงบประมาณปี 2566 หน่วยงานในกระทรวงคมนาคม

 

ได้รับจัดสรรวงเงิน 229,119 ล้านบาท หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรมากที่สุด กรมทางหลวง (ทล.) 118,837 ล้านบาท+ เงินนอกงบประมาณ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 47,160 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 22,727 ล้านบาท รฟม. 21,524 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน 5,194 ล้านบาท ตามลำดับ

 

  เมกะโปรเจ็กต์ คมนาคม