“ไทยยูเนี่ยน” สั่งผู้บริหารทั่วโลกรับมือ ศก.ถดถอย พร้อมปรับแผนตลาดรายวัน

07 ธ.ค. 2565 | 18:17 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2565 | 01:40 น.

ไทยยูเนี่ยน เตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจโลกปี 66 ถดถอย คาดอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยถึงจุดพีคสุด ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภควูบ สั่งผู้บริหารติดตามสถานการณ์ตลาดพร้อมปรับแผนวันต่อวัน เล็งยอดขายปีหน้ายังโตได้ 5% อาหารสัตว์เลี้ยงดาวเด่นทำรายได้-กำไรเพิ่ม

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เผยว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2020-2022) เป็น 3 ปีที่ผลการดำเนินงานของไทยยูเนี่ยนฯค่อนข้างทำได้ดีมาก โดยเฉพาะธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลกระป๋อง  อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง  

 

สำหรับปัญหาหลัก ๆ ในปีนี้ จะมาจากส่วนต่างประเทศ  โดยแบรนด์สินค้าของบริษัททั้งในอเมริกา และยุโรป ประสบปัญหาเรื่องภาวะเงินเฟ้อสูง  ทำให้มีการปรับราคาสินค้า  แต่จากแบรนด์ในยุโรปต่างจากอเมริกาในแง่ที่แบรนด์จะมีราคาที่สูง หรือพรีเมียมกว่า ซึ่งจากการปรับราคาขึ้นไป ทำให้สูญเสียวอลุ่มการขายไปบ้าง  เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีผู้บริโภคหันไปหาสินค้าที่ราคาถูกกว่า

นายธีรพงศ์  จันศิริ  ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

 

เฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ในส่วนของอาหารทะเลแช่แข็งประสบปัญหาจากราคาตลาดตกต่ำ โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาแพง เช่น ล็อบส์เตอร์  ปู กุ้ง และอื่น ๆ ทำให้สต๊อกสินค้าราคาสูงที่มีอยู่ต้องมาปรับลดราคาเพื่อขายออกไปในช่วงปีที่ผ่านมา หากไม่รวมส่วนนี้ธุรกิจของบริษัทก็ยังไปได้ดี

 

ทั้งนี้เห็นได้จากผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มียอดขายถึง 115,974 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13% ส่วนหนึ่งมาจากวอลุ่มการขาย และจากอัตราแลกเปลี่ยน(จากเงินบาทอ่อนค่า) ซึ่งยอมรับว่าปีนี้บริษัทได้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนมากพอสมควร ขณะที่มีกำไรสุทธิ 5,900 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเท่านั้น  ประกอบกับเรื่องสงคราม(รัสเซีย-ยูเครน) โลจิสติกส์ ค่าขนส่ง ค่าแรงที่เป็นปัจจัยลบ แต่ภาพรวมถือเป็นผลงานที่น่าพอใจ

 

ผลประกอบการไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ไตรมาส 3 /2565

 

มองไปในปี 2566 สิ่งที่ตนได้พยายามคุยกับฝ่ายบริหารคือ ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า เป็นช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวัง โดยจะต้องติดตามสถานการณ์การตลาด  ต้องใกล้ชิดกับลูกค้า ใกล้ชิดกับผู้บริโภคให้มาก จาก 12-18 เดือนข้างหน้าจะเป็นจุดที่พีคที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยจะพีคที่สุดในปีหน้า และอัตราแลกเปลี่ยนก็มีความผันผวนมาก จากปีนี้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่ามากแบบที่ไม่เคยเห็น โดยแข็งค่ามากกว่าเงินยูโร  และแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับเงินทุกสกุล และหากเทียบกับเงินบาท ดอลลาร์สหรัฐฯก็แข็งค่ามาก  ทำให้บาทอ่อนค่าลงไปถึง 37-38  บาทต่อดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ปรับขึ้นมามาในระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ในเวลาที่เร็วมาก

 

“นอกจากค่าเงินที่แข็งค่าหรืออ่อนค่าจะมีความผันผวนค่อนข้างมากกว่าปกติ เงินเยนไม่เคยอ่อนถึง 150 เยนต่อดอลลาร์ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าทั้งสิ้น ซึ่งใน 12-18 เดือนข้างหน้าจะเป็นจุดที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และน่าจะเป็นจุดต่ำสุด ไม่ว่า Recession(ภาวะถดถอย) Stagnation(ความอ่อนล้า) ก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ผู้บริโภค เน้นที่อเมริกาและยุโรปเป็นหลัก ก็เริ่มรู้สึกถึงความเจ็บปวดทางการใช้จ่ายของเขา เนื่องจากค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าดอกเบี้ยที่แพงทำให้เขาต้องจ่ายเงินกู้  เงินผ่อนบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่สูงมากขึ้นกว่าปกติ เพราะฉะนั้นเงินสำรองที่มีจำกัด เมื่อถูกใช้ไปในส่วนเหล่านี้ ย่อมมีผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในส่วนอื่น ๆ  ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า และอื่น ๆ”

 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องติดตามคือ พฤติกรรมผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยนอย่างไรในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีท่าทีว่าจะจบในเร็ว ๆ นี้  และยังจะส่งผลกระทบต่อส่วนอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป และต้องระมัดระวัง ซึ่งในแง่ของการบริหารจัดการก็ต้องเน้นความสามารถในการปรับตัว ความยืดหยุ่น

 

ทั้งนี้ต้องติดตามดูสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นรายสัปดาห์ เป็นวันต่อวัน หรือเดือนต่อเดือน เพื่อให้ให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพสินค้า เรื่องต้นทุน ซึ่งการลงทุนด้านออโตเมชั่น(ระบบอัตโนมัติ) เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยังเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดีในปี 2565 บริษัทยังตั้งเป้ายอดขายจะขยายตัวจากปี 2564 ที่  5% ส่วนปี 2566  คาดยอดขายจะยังเติบโตจากปีนี้ที่ 5% โดยรายได้หลักจะมาจากธุรกิจอาหารทะเลกระป๋อง และธุรกิจอาหารทะแลแช่แข็ง แช่เย็น สัดส่วน 75 – 80% โดยคาดยอดขายในสองธุรกิจนี้ในปีหน้าจะเติบโตได้ 3% และสัดส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าอื่น ๆ อีกประมาณ 20% โดยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าอื่น ๆ ในปี 2566 คาดจะขยายตัวได้ 15%

 

ผลประกอบการไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป รอบ 9 เดือนแรกปี 2565

 

ทั้งนี้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงถือเป็นสินค้าดาวรุ่ง ที่การส่งออกขยายตัวตัวเลขสองหลักติดต่อกันมา 2-3  ปีแล้ว โดยในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ Spin-Off   (แยกส่วนธุรกิจออกมา) จะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก โดยไอ-เทลฯถือเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 100% ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด เป็นอันดับ 2 ในเอเชีย และเป็นอันดับ 10 ของตลาดโลก กำหนดราคา IPO 32 บาท คาดจะระดมเม็ดเงินได้ 21,000 ล้านบาท

 

“ในส่วนของการลงทุนสำหรับปี 2566  ไทยยูเนี่ยนฯได้ตั้งงบลงทุน ไว้ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินลงทุนเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา โดยจะมุ่งเน้นใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การซ่อมบำรุง และอื่น ๆ ขณะที่การดำเนินการขยายการผลิต 3 โรงงานตามแผนที่วางไว้จะแล้วเสร็จกลางปีหน้า ได้แก่ โรงงานอาหารสำเร็จรูป โรงงานคอลลาเจนไตรเปปไทด์ และห้องเย็นที่ประเทศกาน่า”

 

ขณะที่เดียยวกันในส่วนของ ธุรกิจร้านอาหารเรดล็อบสเตอร์ ในสหรัฐฯ ที่ยังไม่ทำกำไรจากผลกระทบโควิด-19 บริษัทได้ปรับแผนบริหารจัดการ และปรับเปลี่ยนทีมบริหารใหม่โดยเริ่มเข้าไปดำเนินการในต้นปีที่ผ่านมา เบื้องต้นตั้งเป้าหมายธุรกิจนี้จะลดการขาดทุนได้ 50% หรือประมาณ 500-600 ล้านบาทในปีหน้า และจะสร้างรายได้กลับมาทำกำไรใน 3 ปีนับจากนี้