“ธีรพงศ์” ซีอีโอไทยยูเนี่ยน นั่งประธาน SeaBOS โลก สานต่อดูแลท้องทะเลยั่งยืน

06 ต.ค. 2565 | 18:42 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2565 | 01:51 น.

“ธีรพงศ์” ซีอีโอไทยยูเนี่ยน นั่งประธาน SeaBOS โลก สานต่อดูแลท้องทะเลอย่างยั่งยืน พร้อมดูแลแรงงานในอุตสาหกรรม รักษ์สิ่งแวดล้อม

รายงานข่าวจากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากบริษัทอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกและองค์กรด้านวิทยาศาสตร์มาร่วมหาทางออกเชิงวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถตอบโจทย์ประเด็นที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลเผชิญอยู่

ทั้งนี้ที่ประชุม SeaBOS Keystone Dialogue ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ลงมติอย่างเป็นทางการให้นายธีรพงศ์ จันศิริ เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่ม SeaBOS ต่อจาก นางเทอรีส ล็อก เบอก์จอร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สเกรทติ้ง  นอกจากนี้ นางเอแลน ซิฟ-ดูกิ ประธานกรรมการ บริษัท คาร์กิลล์ อะควา นิวทริชั่น จะรับหน้าที่รองประธานต่อจากนายธีรพงศ์

 

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร SeaBOS ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สานต่อความร่วมมือเพื่อให้พันธกิจของ SeaBOS ลุล่วงได้ตามเป้าหมายในการที่จะเดินหน้ากลยุทธ์และโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษามหาสมุทรให้อุดมสมบูรณ์ การประมงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งดูแลแรงงานในอุตสาหกรรม

สำหรับองค์กร SeaBOS  เป็นการรวมตัวของบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก 10 บริษัท มาร่วมกันทำงานในด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอาหารสัตว์ ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย และยังใช้หลักวิทยาศาสตร์มาใช้ในการตั้งวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อพัฒนาการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลที่ดีขึ้น

 

โดยตั้งแต่องค์กร SeaBOS ก่อตั้งขึ้นในปี 2559  จากความร่วมมือระหว่างบริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลกและองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ทำให้สามารถพัฒนาโมเดลความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพที่จะดูแลมหาสมุทร โดยก้าวข้ามการทำงานของแต่ละบริษัทเป็นการดูแลทั่วทั้งอุตสาหกรรม

 

สมาชิกองค์กร SeaBOS ประกอบด้วย บริษัท มารุฮา นิชิโร คอร์ปอเรชั่น, นิสซุย, ไทยยูเนี่ยน, โมวี่, ดองวอน อินดัสทรีส์, เซอร์แมค, คาร์กิลล์ อะควา นิวทริชั่น, นูเทรโก/สเกรทติ้ง, ซีพีเอฟ, และเคียวคุโย  สำหรับองค์กรพันธมิตรด้านวิทยาศาสตร์ได้แก่ สต็อคโฮล์ม เรซิเลียนส์ เซ็นเตอร์, บีเจอร์ อินสติติว ฟอร์ อิโคโลจิคอล อิโคนอมิกส์ แห่ง รอยัล สวีดิช อะคาเดมี ออฟ ไซน์, มหาวิทยาลัยแลงแคสเตอร์ และ สแตนฟอร์ด เซ็นเตอร์ ฟอร์ โอเชียน โซลูชั่นส์   และงานทางด้านวิทยาศาสตร์ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก มูลนิธิวอลตัน แฟมิลี่  มูลนิธิเดวิด แอนด์ ลูซิล แพ็คการ์ด และมูลนิธิกอร์ดอน แอนด์ เบตตี้ มัวร์

 

“วิธีการทำงานที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ของ SeaBOS ทำให้เราสามารถหาทางออกให้กับความท้าทายบางประการที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลกำลังเผชิญอยู่ได้  ด้วยเครือข่ายของกลุ่ม ทำให้เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไปได้ทั่วโลก ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่หลักวิทยาศาสตร์เท่านั้น” นายธีรพงศ์ กล่าว